ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 ที่ศูนย์เผยแพร่ความรู้และให้บริการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง " ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายและสัญญากำหนดไว้ และเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมเป็นเงื่อนไขในประทานบัตร” ระหว่างนายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร. และ บริษัท เอเชีย แปซิฟอก โปแทซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัทฯ โดยมีนายสกล จุลาภา รองอธิบดี กพร. นายไพโรน์ โพธาภรณ์ ผจก.ฝ่ายวิศวกรรม ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วย
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 รับทราบผลสัมฤทธิ์การจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โครงการเหมืองแร่โพแทซจังหวัดอุดรธานี และให้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้เกิดความโปร่งใส และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจ เกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ
ต่อมาคณะกรรมการแร่ได้ให้ความเห็นชอบ อนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่โพแทซ จำนวน 4 แปลงของบริษัทฯ ในจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2565 พร้อมทั้งได้กำหนดเงื่อนไขและมาตรการเพิ่มเติม ให้ผู้ถือประทานบัตรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยได้กำหนดกองทุนเพื่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จำนวน 11 กองทุน เป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ
รวมทั้งให้มีคณะทำงานร่วมตรวจสอบกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้แทนจากจากผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งบริษัทฯต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก และวางหลักประกันการฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมืองแร่ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
ในการนี้ อธิบดี กพร. ได้กำชับบริษัทฯ ประกอบกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ให้ความเห็นชอบ เช่น มาตรการป้องกันผลกระทบจากฝุ่นเกลือ กองเกลือ น้ำเค็ม การลดระดับของผิวดิน ที่กำหนดเพื่อป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วม และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
การอนุญาตประทานบัตรดังกล่าวข้างต้น เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรมของไทยให้มีวัตถุดิบแร่โพแทซเพื่อทดแทนการนำเขข้า แก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยและปุ๋ยแพงในปัจจุบัน และช่วยลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว ช่วยเหลือสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และยกระดับรายได้ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้ดีขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองจากสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ต้องดำเนินการด้านการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย เพื่อให้กิจการได้รับการยอมรับ และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
หลังจากได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี นายสมโภชน์ วงศ์ประทุม หัวน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) สำนักงานอุดรธานี เผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทฯ กำลังเตรียมให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โครงการทั้ง 4 ตำบล เริ่มทยอยลงทะเบียนการจ่ายเงินค่าทดแทน สำหรับเจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตร โดยขอให้เตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้พร้อม โดยจะเปิดให้ทะยอยลงทะเบียนในเร็ว ๆ นี้ แต่ตัวเงินที่จะจ่ายทดแทนได้จริงนั้น คาดว่าจะเป็นเวลาภายใน 90 วัน เมื่อมีการออกใบอนุญาตประทานบัตรแล้ว
ขณะที่มวลชนสองฝ่ายยังคงยืนยันจุดยืน โดยนายประจวบ แสนพงษ์ ประธานคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย 4 ตำบล ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทซจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้เห็นข่าวนี้แล้ว รู้สึกดีใจแทนชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล เป็นเรื่องที่ยืดยาวมานานในพื้นที่ ตนก็ติดตามในฐานะของประชาชน และเคยร่วมเคลื่อนไหวอยู่ในทั้ง 2 ด้าน โดยเป็นผู้เริ่มคัดค้านโครงการกลุ่มแรก ๆ ขณะมีผู้ร่วมคัดค้านเพียง 12 คน และปัจจุบันมาเป็นประธานคณะกรรมผู้มีส่วนได้เสีย
"เป็นเรื่องธรรมดาของโครงการขนาดใหญ่ มีผลประโยชน์เยอะ ย่อมจะต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ในเบื้องต้นเมื่อทราบว่าจะมีการทำเหมืองแร่โพแทซที่จังหวัดอุดรธานีก็ออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ ปัจจุบันผู้ประกอบการได้ชี้แจงประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายมีข้อสงสัย เกรงกลัว จนเป็นที่พอใจยอมรับได้ของทุกฝ่ายแล้ว จนได้มีการดำเนินการได้ ส่วนที่ยังมีการคัดค้านต่อต้านโครงการน่าจะไม่ได้เกิดขึ้นจากภายในพื้นที่ มีประเด็นที่คนนอกนึกไม่ถึง"
นายประจวบกล่าวต่อว่า จากที่กพร.ดำเนินการตามที่ครม.เห็นชอบ ให้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีได้ เกษตรกรทั้งประเทศจะได้ใข้ประโยชน์จากแร่โพแทช มีโอกาสได้ใช้ปุ๋ยที่ได้จากภายในประเทศเอง ลดการนำเข้า
ขั้นตอนต่อไปภายในเวลา 60 วันหลังมีการออกประทานบัตรแล้ว อธิบดี กพร. จะต้องมาร่วมประชุมกับคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการของบริษัทฯ โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งกองทุนจำนวน 11 กองทุน ตามที่บริษัทฯเสนอไว้ในหนังสือขอประทานบัตรให้พื้นที่รับทราบ ทราบว่าในเบื้องต้นนี้ ทางบริษัทฯได้จัดสรรเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เอาไว้บริหารจัดการกองทุน และจะต้องมีการทยอยนำเงินที่เหลือเข้าสมทบกองทุนต่าง ๆ จนครบตามกำหนด
ในด้านคณะกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย ยังต้องทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยการประสานงานกับทุกภาคส่วนส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ต้องดำเนินต่าง ๆ ไปตามกำหนด และตามข้อสัญญาของหนังสือขอประทานบัตร ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทซ จังหวัดอุดรธานี ได้รับผลประโยชน์มีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี (เสื้อเขียว) กลุ่มผู้ต่อต้านคัดค้านโครงการมากว่า 20 ปี ยืนยันจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการออกประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ย้ำคนในพื้นที่ไม่เอา แล้วกพร.เป็นคนอุดรธานีไหม ที่จะออกประทานบัตรมาทำไม พื้นที่นี้ไม่ใช่พื้นที่ของกพร. ประทานบัตรเก่าก็ยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งได้ไปฟ้องศาลไว้ยังไม่มีการตัดสิน ก็จะมารีบออกประทานบัตร "บ้านเมืองของคนอุดรฯจะมาทำให้มันเพพังได้อย่างไร มาชอนไชใต้ถุนบ้านชาวบ้านเขาถ้าพังขึ้นมาจะทำอย่างไร ถ้าเข้ามาก็ต้องขวาง"