นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อ.ดอกคำใต้ (แม่ต๋ำ) - อ.เทิง ตอน อ.เชียงคำ -อ.เทิง ระยะทางรวม 37.019 กิโลเมตร งบประมาณ 2,046 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 80 % คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 โดยการก่อสร้างในครั้งนี้เป็นการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร เนื่องจากเดิมทางหลวงสายนี้มีขนาด 2 ช่องจราจร ไป - กลับ เป็นทางหลวงที่มีแนวเส้นทางพาดผ่านสภาพภูมิประเทศที่เป็นแนวเขาสลับกัน เส้นทางที่คดเคี้ยวไปมาทำให้การเดินทางไม่สะดวกและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ - ห้วยทราย)
สำหรับโครงการฯ ได้ก่อสร้างขยายจากขนาด 2 ช่องจราจรเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างนอกกว้างข้างละ 2.50 ด้านในกว้าง 1.50 เมตร มีเกาะกลางแบริเออร์คอนกรีต รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลอง 28 แห่ง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทาง 24 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ระหว่าง กม.59+200 - กม.100+019 แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน คือ ตอน 1 ก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ช่วง กม.59+200 - กม.60+700, กม.62+500 – กม.70+200 และ กม.72+200 - กม.75+000 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ,ตอน 2 ระหว่าง กม.75+000 - กม.86+000 ระยะทาง 11 กิโลเมตร , ตอน 3 ระหว่าง กม.86+000 - กม.100+019 ระยะทาง 14.019 กิโลเมตร
ทั้งนี้ทางหลวงสาย อ.เชียงคำ - อ.เทิง เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อ.ดอกคำใต้ (แม่ต๋ำ) - อ.เทิง เริ่มต้นจากสี่แยกแม่ต๋ำ (ทางหลวงหมายเลข 1) บรรจบทางหลวงหมายเลข 1020 บริเวณ อ.เทิง จ.เชียงราย ระยะทางรวมประมาณ 100.157 กิโลเมตร ทางหลวงสายนี้นับว่ามีความสำคัญเนื่องจากเป็นอีกเส้นทางในการเดินทางสู่สะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ - ห้วยทราย) เพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง R3A ทางหลวงนานาชาติที่ที่เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทย
อย่างไรก็ตามหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเส้นทางสายนี้จะเป็นอีกเส้นทางที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตร ภาคขนส่งสินค้าและภาคท่องเที่ยวและการลงทุนแถบพื้นที่ชายแดน พร้อมรองรับการเปิดเส้นทาง R3A และโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย - ลาว - จีน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศข้ามพรมแดนให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น