นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เบื้องต้นกระทรวงติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ดังนี้ โครงการก่อสร้างทางในพื้นที่จังหวัดลพบุรีที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 366 ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ ตอน 1 ระยะทาง 6.550 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 65.58 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 ,โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 366 ทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ ตอน 2 ระยะทาง 7.952 กิโลเมตร (ขยายเป็น 4 ช่องจราจร) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโครงการ ร้อยละ 71.68 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางหลวงที่ได้รับงบประมาณในปี 2565 (โครงการปีเดียว) อีก 11 โครงการ ระยะทาง 30.158 กิโลเมตร เช่น การพัฒนาทางหลวงย่านชุมชน การพัฒนาสะพาน ระบบระบายน้ำ เป็นต้น
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงชนบทมีโครงการที่ได้รับงบประมาณในปี 2565 จำนวน 51 โครงการ วงเงินงบประมาณ 641.790 ล้านบาท ซึ่งมีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการปรับปรุงเรขาคณิตของทาง ถนนสาย ลบ.2034 แยก ทล.21 - บ้านน้ำซับ ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมการคมนาคมขนส่งให้ขยายตัวอย่างเป็นระบบ โครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ
ส่วนโครงการก่อสร้างถนนสาย ลบ.1036 แยก ทล.1 - บ้านป่าหวาย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ส่งเสริมการคมนาคมขนส่งให้ขยายตัวอย่างเป็นระบบ คาดว่าแล้วเสร็จต้นปี 2567
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งทางรางเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ โดยมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น แผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560 - 2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร แผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการ และจัดทำรายงาน EIA และมีแผนพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ระยะถัดไปอีก จำนวน 12 เส้นทาง โดยการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ซึ่งมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีบ้านกลับ สิ้นสุดที่สถานีปากน้ำโพ ก่อสร้างขนานไปกับทางรถไฟเดิม ก่อสร้างทางรถไฟ จำนวน 2 ทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ (ช่วงบ้านกลับ - โคกกระเทียม) เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ระยะทาง 19 กิโลเมตร และเลี่ยงเมือง ระยะทางรวม 29 กิโลเมตร และช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ (ช่วงท่าแค - ปากน้ำโพ) ระยะทาง 116 กิโลเมตร คาดว่าเปิดให้บริการในปี 2566
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนเร่งรัดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ระยะทาง 2,506 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ผ่านพื้นที่จังหวัดลพบุรี ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตรและพิษณุโลก ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบรายงาน EIA แล้ว และอยู่ระหว่างการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุน
ด้านโครงการพัฒนาเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำป่าสัก หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 7 ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล เพื่อแก้ไขปัญหาตลิ่งพังทลาย ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางถนนที่ประชาชนใช้เป็นทางสัญจรร่วมกัน รวมทั้งบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างของประชาชนบนฝั่ง ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการดำเนินงาน ร้อยละ 97 คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปี 2565 ส่วนโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศพื้นที่จังหวัดลพบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งพัง เพิ่มพื้นที่ในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระยะยาวอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมเจ้าท่าดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 7 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 2 โครงการ คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2565
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมมีโครงการเพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งสาธารณะ จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลพบุรี จำนวน 54 เส้นทาง รวมทั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยกำกับดูแลตรวจสอบความปลอดภัยการเดินรถโดยสารสาธารณะ ตั้งจุดตรวจเข้มข้นรถโดยสารสาธารณะ Checking Point การตรวจจับความเร็วรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกด้วยกล้องเลเซอร์ ศูนย์บริหารจัดการการเดินรถด้วยระบบ GPS ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ
“ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมดำเนินงานทุกโครงการ โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก รวมทั้งความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และดำเนินการตามมาตรการและแนวปฏิบัติระยะยาวสำหรับโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด โดยเพิ่มมาตรการการตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย มีการนำระบบ Safety Audit มาใช้ในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทางขึ้นอีก รวมทั้งปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมขนส่งในปัจจุบันให้มีความมั่นคงและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตามยังได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งพัฒนาระบบและวิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับข้อมูล การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมให้กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการจัดระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติเพื่อให้ตรงกับรูปแบบการใช้บริการของประชาชน รวมทั้งมีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาโครงข่าย โดยให้หน่วยงานคมนาคมในพื้นที่บูรณาการกับจังหวัดลพบุรี เพื่อให้การจัดทำงบประมาณลงพื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน