“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร ฉายภาพอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวม และทิศทางธุรกิจเหล็กกลุ่มมิลล์คอนนับจากนี้
3 ปัจจัยราคาเหล็กขึ้น-ลง
นายสิทธิชัย ประเมินว่าปี 2565 ความต้องการบริโภคเหล็กจะดีขึ้น มองจากภาพการก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐยังมีอยู่ค่อนข้างมากและต่อเนื่อง ส่วนระดับราคาอาจมีการขึ้นลงผันผวนตาม 3 กลไกหลัก คือ 1.ราคาน้ำมัน 2.ค่าระวางเรือ และ 3.การบริโภคเหล็กในประเทศของผู้บริโภครายใหญ่ เช่น จีน อเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป ทั้งหมดคือตัวแปรสำคัญในการกำหนดราคาเหล็กในตลาดโลก
ปี 2565 การแข่งขันยังคงเข้มข้น จากมีผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น การทุ่มตลาดจากจีนรวมถึงประเทศอื่นๆ ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปี 2564 โตขึ้น ประมาณ 15% จากปีก่อน ปริมาณการใช้งานโดยรวมราว 18-19 ล้านตัน
ในส่วนของมิลล์คอนปี 2564 ใช้กำลังการผลิตประมาน 4.9 แสนตัน (ข้อมูล 9 เดือน) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน แต่หลังจากการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว คาดปีนี้ (2565)ความต้องการใช้เหล็กของประเทศน่าจะเติบโตต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5% โดยในปีนี้หลายโครงการจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง และคาดจะมีการเรียกรับสินค้าเข้าโครงการมากขึ้น
สำหรับโครงการภาครัฐเองก็มีส่วนกระตุ้นความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟรางคู่, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน, รถไฟฟ้าสายใหม่, ทางด่วนพระราม 2, ทางด่วนพระราม 3, เขื่อนบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, โครงการทางหลวงบางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการทางหลวงหัวหิน-นครปฐม เป็นต้น
จีนตัวแปรสำคัญ
สำหรับประเทศจีน หนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเหล็กของโลก มีการส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ในช่วงที่ผ่านมามีการสั่งปิดโรงงานเหล็กกลุ่มเทคโนโลยีการผลิต BOF (Basic Oxygen Furnace) และ IF (Induction Furnace) ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้กำลังการผลิตเหล็กของจีนลดลง ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในจีนยังคงมีความต้องการใช้งานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีการยกเลิกการสนับสนุนภาษีส่งออกสินค้าเหล็ก ทำให้เหล็กที่นำเข้าจากจีนมีราคาสูงขึ้น และราคาเหล็กของไทยสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน ก็มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเช่นกัน
ตลาดโตลุยผลิตเพิ่ม 50%
นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า จากที่ประเมินว่าแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กปีนี้จะดีขึ้น ทำให้กลุ่มมิลล์คอนวางเป้าหมายแผนการผลิตปี 2565 ไว้ที่ประมาน 9 แสนตัน เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2564 แบ่งเป็นเหล็กเส้น 72.4% ประมาณ 6.6 แสนตัน บิลเลต 21.7% ประมาณ 1.9 แสนตัน เหล็กรูปพรรณ 5.9% ประมาณ 5.4 หมื่นตัน และคาดการณ์รายได้จะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ความต้องการเหล็กปี 2565 จะมีมากขึ้น 3-5% ตามเศรษฐกิจโดยรวม ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น การนำเข้าเหล็ก ยังคงมีสัดส่วนที่สูงอยู่ รัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลให้นำเข้าเฉพาะเหล็กที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ส่งเสริมนโยบายการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศเป็นสำคัญ
เมื่อถามว่า MILL จะแตกไลน์ธุรกิจอะไรบ้างในปี 2565 ประธานคณะกรรมการบริหาร MILL กล่าวว่าแผนธุรกิจปีนี้ กลุ่มมิลล์คอนได้ตั้งเป้าเป็นผู้นำในส่วนของ circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากเดิมกลุ่มมิลล์คอนมีการผลิตเหล็กจากเศษเหล็ก จากรถเก่ามาเข้าเครื่องบดย่อย คัดแยกเศษเหล็กไปหลอมใหม่เพื่อผลิตประเภทต่าๆ ยังมีส่วนที่เหลือจากการบดย่อย สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงเป็นการกำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นการไม่สร้างภาระต่อสังคม เชื้อเพลิงดังกล่าวสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจที่ต่อเนื่องได้ เช่น พลังงาน เป็นต้น
โดยปัจจุบันมี บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นลูกของMILL ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน จากเดิมที่บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการเศษเหล็กและซื้อขายเศษเหล็ก และบริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ MILL การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะช่วยสนับสนุนในการหาพลังงานสะอาดให้กับกลุ่มมิลล์คอน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ส่วนโครงสร้างธุรกิจ MILL ในระยะต่อไป ยังคงโฟกัสในการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กเกรดพิเศษ และธุรกิจอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในธุรกิจหลัก ซึ่งในส่วนธุรกิจอื่นนั้น ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงการหาพันธมิตรที่มีความสนใจเรื่องของ Green business
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจนั้น มองว่าปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นทั่วโลก การผลิตและบริโภคเหล็ก จากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เช่น จีน รวมถึง ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะโรคระบาด อัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน เป็นต้น ทำให้กลุ่มมิลล์คอนต้องบริหารจัดการอย่างใกล้ชิด
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565