เมื่อวันที่ 6 ส.ค. เวลา 14.30 น. ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปผลการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ( Thailand Climate Action Conference หรือ TCAC ) ว่า
การจัดประชุม TCAC ครั้งแรกของประเทศไทยประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการสร้างพลังการขับเคลื่อน สร้างพลังในการรับรู้ และตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในทุกระดับ
ผ่านการจัดกิจกรรม และเสวนาในหัวข้อต่างๆ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา และที่สำคัญยังทำให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้หน่วยงานของภาครัฐบาล คงได้รับทราบ และเข้าใจถึงเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำของประเทศไทย ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ในงานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 กันมากยิ่งขึ้น ทั้งการขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรีไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2030, การบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065
ทางกระทรวงทรัพย์ฯ จะส่งแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ LT-LEDS และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ฉบับปรับปรุงไปยังสํานักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ภายในปลายปีนี้ ก่อนทีกระทรวงทรัพย์ฯ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุม COP 27 ที่ประเทศอียิปต์
“ผมยืนอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีของกระทรวงทรัพย์ฯ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี จึงเห็นมาโดยตลอด ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจาก Climate Change ได้ส่งผลกระทบอย่างไรกับกลุ่มเกษตรกร และคนไทยทั้ง 67 ล้านคน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำท่วม
ที่ได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับเกษตรกรของไทย กระทรวงทรัพย์ฯ จึงขอให้คำมั่นว่า จะสนับสนุนการทำงานในทุกจังหวัดเพื่อเป้าหมายระยะยาว ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ในการร่วมมือกันรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะนี่ไม่ใช่ทางเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นทางรอดของประเทศไทย และความเป็นอยู่ของคนไทยทั้ง 67 ล้านคน” นายวราวุธ กล่าว
อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณเอกอัครราชทูต และท่านอุปทูตกว่า 50 ประเทศ ที่พร้อมยืนเคียงข้างประเทศไทย ดังนั้นในวันนี้ประเทศไทยขอส่งข้อความไปยังทูตานุทูตทั่วโลก ว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศ ต้องทำตามสิ่งที่เคยสัญญาไว้กับประเทศไทย ว่า
จะให้การสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม และต้องขอบคุณองค์กรระหว่างประเทศกว่า 20 องค์กร ที่ได้สนับสนุนการทำงานมาโดยตลอด เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย ทั้งเรื่องพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ตลอดการจัดงานประชุม TCAC ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานทั้งคนไทย และต่างประเทศกว่า 3,000 คน และได้รับการตอบรับจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐบาล และเอกชนเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีโจทย์ที่ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะข้อเสนอแนะจากกลุ่มเยาวชน
ที่ต้องการกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพ และการให้ความรู้ในด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการให้เงินทุน และเทคโนโลยี, เรื่องการแก้ไขกฎหมายบางประเภทเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทดแทนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางกระทรวงทรัพย์ฯ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป และการจัดประชุมในครั้งนี้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ จะให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับการประชุม TACC ให้มากยิ่งขึ้น