"วราวุธ" เผยไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

31 ก.ค. 2565 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2565 | 22:37 น.

"วราวุธ" เผยไทยติด 1 ใน 10 ประเทศต้น ๆ ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งเป้าเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมยืนยันรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก ไม่ได้เอื้อนายทุนขายถุงประชาชน พร้อมแนะรวมหัวปฏิเสธการซื้อถุงจากสะดวกซื้อห้างสรรพสินค้าให้เจ๊งกันไปข้าง

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ทรัพยากร​ธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ จัดรายการ "คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี" ประเด็น "ภาวะโลกรวน เราเปลี่ยน โลกเปลี่ยน" ผ่านทาง FM92.5 MHz และเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยช่วงที่สองเป็นการเล่าถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ซึ่ง global climate risk index 2021

 

 

ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งหมายความว่าหากเกิดปัญหาในโลกใบนี้ ประเทศไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศ แรกที่จะโดนผลกระทบ ดังนั้นหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา อย่าง จ.สุพรรณบุรี เมื่อต้นปี 2564 ประสบปัญหาสภาวะน้ำแล้งอย่างหนัก มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกระเสียว ไม่ถึง 10% ของปริมาณความจุทั้งหมด

 

 

ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลของ อ.ด่านช้าง และต่อมาเดือนกันยายน เกิดสภาวะน้ำมาก ต้องระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และถือเป็นครั้งแรกที่ 10 อำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรีเกิดน้ำท่วม จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ดีว่าประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่จะประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

 

\"วราวุธ\" เผยไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากก๊าซเรือนกระจก ที่มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นความร้อน และห่อหุ้มชั้นบรรยากาศโลกเอาไว้ ทำให้อุณหภูมิของโลกค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น จึงไม่อยากให้มองเป็นปัญหาเล็กน้อย เพราะโลกมีความเปราะบางมากกว่ามนุษย์ เพราะเมื่อโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 - 1.5 องศาเซลเซียส

 

 

จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายสิ่งหลายอย่างตามมา ทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขปัญหา จึงจำเป็นต้องลดกิจกรรมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากที่สุด ด้วยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ และลดการทิ้่งขยะ

 

 

โดยเฉพาะถุงพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวและทิ้ง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์มาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการขอความร่วมมือร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าลดการแจกถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

\"วราวุธ\" เผยไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

"ตอนนั้นก็เกิดปัญหา และเกิดคำถามขึ้นมากมาย ว่าเป็นการเอื้อนายทุนหรือไม่ เพราะทำให้นายทุนต้องไปซื้อถุง และนำมาขายให้กับผู้บริโภค ผมก็แปลกใจเหมือนกัน และทำไมเราไม่ลองรวมหัวกันไม่ซื้อถุงพลาสติกของห้างร้านเหล่านั้น บางคนบอกว่าทางรัฐบาลมีนโยบายจะไปเอื้อนายทุน ประหยัดต้นทุน ผมก็ทราบมาว่าหลาย ๆ ห้างเขาไปซื้อถุงพลาสติด เพื่อมาไว้ขายให้กับผู้บริโภค และคนที่ต้องการจะใช้

 

 

ผมคงต้องฝากพี่น้องประชาชนว่า เรามารวมหัวกันดูไหมครับ ทำให้บริษัทห้างร้านเหล่านั้นเจ๊งกับถุงพลาสติกเลย รวมหัวไม่ต้องไปซื้อถุงพลาสติดเขาเลย ออกจากบ้านพกถุงผ้า หรือจะเอาถุงพลาสติกจากบ้านเราไปก็ได้ ผมไม่ได้ห้ามใช้ ถุงพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย

 

 

เพียงขอว่าถุงพลาสติกที่เราใช้ทุกวันขอให้ใช้มากกว่า 1 ครั้ง ถุงพลาสติก 1 ใบเราใช้มากถึง 10 ครั้ง ก็จะลดขยะถุงพลาสติกไปได้ 10 ชิ้น เรามารวมหัวกันไหมครับ พกถุงจากบ้านไปห้างกัน และพอเขาบอกว่าจะซื้อถุงไหม เราก็บอกว่าไม่ซื้อครับ ปล่อยให้เขาขายไม่ออก ให้เจ๊งกันไปเลย" นายวราวุธ กล่าว

 

นายวราวุธ ยืนยันว่านอกจากการขอให้ประชาชนร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยไทยได้เข้าร่วมภาคีสมาชิกอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่วมภาคีความตกลงปารีส

 

 

ซึ่งทั่วโลกได้ลงนามในข้อตกลงเหล่านี้ และมาช่วยกันหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหาทางที่จะไม่ทำให้โลกเสียสมดุลไปมากกว่านี้ โดยวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปกรุงกลาสโกว์ เข้าร่วมประชุม COP26 ซึ่งเป็นเวทีผู้นำทั่วโลกมาคุยกันหาทางลดก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกิดกว่าที่กำหนดเอาไว้

 

 

ซึ่งไทยประกาศไว้ว่าจะยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ และปี 2050 ไทยจะเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจำเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งการจะทำได้ต้องให้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน