สศช.กาง 3 ช็อตรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ราคาพลังงานพุ่ง

11 ส.ค. 2565 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 16:07 น.

สศช. รายงานคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ประเมินสถานการณ์ประเทศ กาง 3 กรณีประเทศไทยเจอผลกระทบหนักแค่ไหน จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลถึงเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่เบาสุด จนหนักสุด ไปดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกันว่า ในแต่ละกรณีเป็นยังไง ไทยจะรับมือได้แค่ไหน

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้ที่ประชุมรับทราบ โดยยืนยันเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก 

 

“ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกอย่างต่อเนื่องโดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการ โดยการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น ส่วนตัวเลขจริง สศช. จะแถลงตัวเลข GDP อีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้” นายวิชญายุทธ ระบุ

ทั้งนี้สศช.ยังได้ประเมินสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจออกเป็น 3 กรณี และรายงานให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้

 

กรณีแรก คือ กรณีฐานที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ แต่มาตรการกีดกัน และมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นช้า ๆ โดยประเมินผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยว่า ตัวเลข GDP ปี 2565 ยังสามารถขยายตัวได้ตามที่หน่วยงานต่าง ๆ ประมาณการไว้ เช่น 

  • สศช. ประเมินขยายตัว 2.5 – 3.5% 
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประเมินขยายตัว 3.5% 
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินขยายตัว 3.3% 

กรณีที่ 2 คือ กรณีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ และเริ่มมีมาตรการกีดกัน และตอบโต้ทางเศรษฐกิจ รวดเร็วและรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าประมาณการ และชะลอตัวรุนแรง โดยประเมินผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย GDP จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย 

 

กรณีที่ 3 คือ กรณีร้ายแรง นั่นคือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ขยายขอบเขตเป็นการแบ่งขัวออกมาชัดเจน ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งรัสเซีย-จีน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากขึ้น แต่ ณ ปัจจุบันความเป็นไปได้ในกรณีนี้นี้ยังมีน้อยอยู่

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในกรณีผลกระทบร้ายแรงนั้น แม้จะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความชัดเจนมากขึ้น

 

หากความขัดแย้งขยายขอบเขต ปัญหาจะมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะแรก และขยายตัวในเกณฑ์ต่ำสลับกับ Recession เป็นระยะ ๆ ตามความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่าง 2 ขั้วเศรษฐกิจหลัก 

 

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีนี้ จะส่งผลไปถึงราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มมีการขาดแคลนพลังงานและอาหาร รวมทั้งสินค้าสำคัญ ๆ ในตลาดโลกอย่างชัดเจน ทำให้เข้าสู่ภาวะ Stagflation หรือ ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2513 – 2523

 

ส่วนเศรษฐกิจไทยเองนั้น จะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงและมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกสูง ทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน ห่วงโซ่การผลิต ตลาดทุน และการพึ่งพิงพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง เช่นเดียวกับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องและการขาดดุลการคลังกว้างขึ้นและทำให้แรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลแฝด หรือ Twin Deficits รุนแรงมากขึ้น