“ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว” แรงตก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังบนความเสี่ยง

23 ก.ค. 2565 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2565 | 14:57 น.

ปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ระบุผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีของประเทศไทยมีมูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท (5.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

 

ต้นปี 2565 สภาพัฒน์คาดการณ์จีดีพี หรือเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การขยายตัวต่อ เนื่องของภาคการส่งออก 2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 3. การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ และ 4. แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ

 

ทั้งนี้การส่งออกคาดจะขยายตัวได้ 4.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.8% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดจะขยายตัว 4.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 1.5-2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.5% ของจีดีพี

 

“ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว” แรงตก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังบนความเสี่ยง

 

ผ่านไตรมาสแรกปี 2565 ตัวเลขจีดีพีประเทศไทยขยายตัว 2.2% โดยการขยายตัวดังกล่าวมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ อย่างไรก็ดีจากปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาพลังงาน ราคาอาหาร และราคาสินค้าพุ่งสุงขึ้นทั่วโลก ดันเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

 

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40-50 ปี ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด (เดือนมิ.ย.ขยายตัว 7.6% สูงสุดในรอบ 13 ปี) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไทยจ่อขยับตามเพื่อสกัดเงินเฟ้อและกันเงินไหลออกกดดันบาทยิ่งอ่อนค่า ยิ่งซํ้าเติมกำลังซื้อของประชาชนให้ลดน้อยถอยลงไป หลายฝ่ายเกรงจะยิ่งซํ้าเติมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขณะโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่กลับมาระบาดอีกครั้งกำลังฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัวทำได้ช้า และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

 

“ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว” แรงตก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังบนความเสี่ยง

 

จากปัจจัยลบหลัก ๆ ข้างต้น สภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยทั้งปีนี้ลดลงเหลือ 2.5-3.5% ส่วนภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดลงเหลือ 2.75-3.5% (เดิมคาดขยายตัว  2.5-4.0%) มูลค่าการส่งออก (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ)จะขยายตัวได้ 5 -7% (เดิมคาดขยายตัว 3-5%) และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5-7% (เดิม 3.5-5.5%) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง และเงินบาทที่อ่อนค่า รอบ 7 ปี ใกล้แตะที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเต็มที

 

 

หันมาเช็คสภาพเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนหรือพยุงเศรษฐกิจไทยให้ยังขยายตัวเป็นอย่างไรกันบ้าง เอาแค่ 3 ตัวหลัก คือภาคส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และภาคท่องเที่ยวส่วนใหญ่ล้วนยังต้องลุ้น และอยู่ในอาการน่าห่วง โดยการส่งออกซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี ตัวเลขอย่างเป็นทางการช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าส่งออก 4.03 ล้านล้านบาท (ปี 2564 ไทยส่งออก 8.56 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แต่ในเดือนที่เหลือของปีนี้ส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก 2 ตลาดใหญ่ คือ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (สัดส่วนส่งออกรวมกันกว่า 25%) เศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย ส่วนตลาดจีน (สัดส่วนส่งออก 14%) เศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวเพียง 2.5% จากผลกระทบนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ในช่วงที่ผ่านมามีการล็อกดาวน์ในหลายเมืองใหญ่ ฉุดการผลิตและการบริโภคในประเทศ ส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมาก

 

โดยนักวิเคราะห์คาดจีดีพีจีนปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 4% ซึ่งการจะขยายตัวได้ที่ระดับ 8.1% เช่นปีที่ผ่านมาคงเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งจาก 3 ตลาดใหญ่ข้างต้นที่มีทิศทางเศรษฐกิจและการบริโภคที่ชะลอตัว จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน แม้เงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับหนึ่งก็ตาม

 

ส่วนภาคท่องเที่ยว ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.98 ล้านคน สร้างรายได้ 1.14 แสนล้านบาท และทั้งปีนี้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาประมาณยอดรวมนักท่องเที่ยวจะเข้ามา 9.32 ล้านคน สร้างรายได้ 1.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวก็มีปัจจัยเสี่ยงจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง รวมถึงสงครามแย่งชิงนักท่องเที่ยวที่ทุกประเทศหวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

 

“ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว” แรงตก เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังบนความเสี่ยง

 

ส่วนภาคการลงทุนที่ปีนี้บีโอไอ คาดหวังจะมีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากทั้งไทยและต่างชาติมาก กว่า 6 แสนล้านบาท ตัวเลขไตรมาสแรกขอรับส่งเสริมแล้ว 378 โครงการ ลดลง 1% มูลค่าเงินลงทุน 1.10 แสนล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังต้องลุ้นการขอรับการส่งเสริม และตัวเลขเม็ดเงินลงทุนจริงจะเป็นเช่นไร

 

ขณะเดียวกันการเมืองไทยในเวลานี้อยู่ในช่วงเขม็งเกลียว ล่าสุดฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 11 คน (19-22 ก.ค.) ส่งผลการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงเป็นช่วงปลายอายุรัฐบาลที่ต้องเตรียมจัดทัพรับศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ ทำให้การ แก้ไขปัญหาบ้านเมือง และเศรษฐกิจปากท้องเป็นเพียงแค่ประคองตัว และเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่

 

จากภาคการส่งออก การลง ทุน การท่องเที่ยว และการบริโภค  ซึ่งเป็นความหวังในการช่วยฟื้น เศรษฐกิจปีนี้ที่ยังมีปัจจัยลบอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นอีกปีหนึ่งที่ไทยต้องประคองเศรษฐกิจฝ่ามรสุมของโลกไปให้ได้