เช็ค “มาตรการลดค่าครองชีพ” รอบใหม่ รัฐบาลเตรียมต่ออายุอีกไหม

11 ส.ค. 2565 | 20:55 น.

เช็ค “มาตรการลดค่าครองชีพ” รอบใหม่ ช่วยลดผลกระทบจากราคาพลังงานแพง หลังจากกระทรวงการคลัง ชงบอร์ดเฉพาะกิจฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธานรับทราบเรียบร้อย ลุ้นมาตรการอะไรที่กำลังหมดอายุ และความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะเตรียมต่ออายุอีกไหม

หลังจากการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้เห็นชอบมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หนึ่งในแนวทางการดูแล มีการหยิบยกเรื่อง มาตรการลดค่าครองชีพ รอบเดิม ที่กำลังจะหมดอายุขึ้นมาหารือด้วย

 

สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพ ครั้งล่าสุดที่ออกไปช่วยเหลือประชาชนและผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เน้นไปที่การดูแลผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากกรณีของสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้จัดทำรายละเอียดเอาไว้อย่างน่าสนใจ และได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ แล้ว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานกรณ์วิกฤตเศรษฐกิจระบุว่า มาตรการลดค่าครองชีพเดิมจะต่อหรือไม่นั้น คณะอนุกรรมฯ จะไปหารือกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณา และทบทวนมาตรการที่จะหมดอายุในเดือน สิงหาคม – กันยายน 2565 นี้ อีกครั้ง

 

สำหรับมาตรการที่จำต้องพิจารณาว่าจะต่ออายุหรือไม่นั้น ประกอบด้วย 

 

มาตรการที่จะหมดอายุในเดือนสิงหาคม 2565

  • การช่วยลดการะค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำาหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย

มาตรการที่จะหมดอายุในเดือนกันยายน 2565

  • การเพิ่มเงินช่วยเหลือ เพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อ 3 เดือน 
  • ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
  • การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน 
  • การคงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าช NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
  • ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม
  • การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร
  • การทยอยขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม

 

อย่างไรก็ตามในแต่ละมาตรการที่กำลังจะหมดอายุลงนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ต้องมาดูเป็นรายมาตรการไปก่อนพิจารณาว่าจะช่วยเหลือต่อไปอีกหรือไม่ ช่วยเหลือยังไงเหมาะสม หรือจะช่วยทั่วไปหรือเฉพาะกลุ่ม เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะราคาน้ำมัน เริ่มปรับลดลงจากฐานเดิม เมื่อได้ข้อสรุปจะนำมาเสนอที่ประชุมต่อไป

 

ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะเอามาใช้นั้น มีความเห็นจากนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า แหล่งเงินตอนนี้ก็มีการเตรียมความพร้อมเอาไว้ และได้แจ้งในที่ประชุมไปแล้ว ทั้งงบกลาง ในปีงบประมาณ 2565 – 2566 รวมทั้งเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทด้วย แต่ทั้งหมดจะต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง