ทั้งนี้จากปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่ลดลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงในปริมาณที่สูงขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 6 บาทต่อหน่วยในช่วงปี 2566 หลังจากรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ปรับตัวมาอยู่ที่ 4.72 บาทมต่อหน่วยแล้ว
วิกฤตดังกล่าวไม่เพียงเกิดขึ้นกับไทยเพียงประเทศเดียว แต่ได้เกิดขึ้นทั่วโลก จากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งหาทางออก และหนึ่งในมาตรการรับมือคือ การหันมาให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน เพื่อลดการพึ่งพาปริมาณการนำเข้าพลังงาน ซึ่งไทยเองก็จะต้องเตรียมรับมือ วางแผนในการประหยัดพลังงานของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่เพียงการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้พลังงานลง 20% ช่วงปี 2565 นี้เท่านั้น
มีตัวอย่างของประเทศต่าง ๆ ที่หันมาใช้มาตรการประหยัดพลังงาน รับมือกับวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น อย่างในสภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เกิดการขาดแคลนก๊าซฯ เพราะต้องพึ่งพาก๊าซฯจากรัสเซียถึง 1 ใน 5 ได้เร่งจัดทำร่างแผนเพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการงานประหยัดพลังงานโดย ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง10% เมื่อเทียบกับปี 2562 ภายในปี 2567 และรัฐบาลออกมาตรการประหยัดพลังงานโดยให้ห้างร้านต่างๆ ร่วมมือกันปิดประตูเข้า-ออก ในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทําความร้อน และห้ามเปิดใช้ป้าย โฆษณาที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นมาตรการที่บังคับใช้กับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน
เช่นเดียวกันอิตาลี ได้ร่างแผนประหยัดพลังงานในสภาวะฉุกเฉิน ประกอบด้วยมาตรการการจํากัดการเปิดเครื่อง ทําความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และเปิดเครื่องปรับอากาศที่ อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน ลดการเปิดไฟฟ้าริมถนนในเวลากลางคืน และ ปิดร้านค้าก่อนเวลาปกติ ซึ่งการลดอุณหภูมิความร้อนของฮีทเตอร์ภายในอาคารลง 1 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดก๊าซได้ถึง 2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
แม้แต่เยอรมนี ที่ลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลง 35% และจะยุติการนำเข้าทั้งหมด รัฐบาลจึงได้อนุมัติมาตรการประหยัดพลังงานสําหรับช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะจํากัดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารสาธารณะ และอาคารสํานักงานต่างๆ โดยขอให้ปิดเครื่องทําความร้อนในห้องที่ไม่มีคนใช้งาน และนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 นี้เป็นต้นไป อาคารสาธารณะที่นอกเหนือจาก โรงพยาบาลจะต้องจํากัดอุณหภูมิเครื่องทําความร้อนอยู่ที่ 19 องศาเซลเซียส เป็นต้น
รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย อย่างจีน ที่ประสบปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเปิดเครื่องปรับอากาศมากขึ้น และแม่นํ้าสายหลักแห้งแล้ง กระทบต่อการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงได้รณรงค์ประหยัดพลังงานให้ประชาชนในเมืองเฉิงตูปิดไฟตกแต่งภูมิทัศน์นอกอาคาร โฆษณานอกอาคาร ตลอดถึงระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าใต้ดินและป้ายชื่อของ อาคารต่าง ๆ รวมถึงการขยายเวลามาตรการปันส่วนไฟฟ้า เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับครัวเรือนในบางพื้นที่ของประเทศ และการระงับและจำกัดการจ่ายไฟฟ้าแก่โรงงานหลายพันแห่ง เป็นต้น
หรืออย่างญี่ปุ่น ได้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ได้ขอความร่วมมือจากบริษัทและบ้านเรือนทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ถือเป็นการใช้มาตรการนี้ครั้งแรกในรอบ 7 ปี และคาดว่ามาตรการนี้จะเข้มงวดมากขึ้นในนช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้
ขณะที่อาเซียน อย่างเวียดนาม ที่ต้องจัดการกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10 % ต่อปี รัฐบาลได้ร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงาน การประหยัด และ การอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานมีความสําคัญสูงสุด โดยหวังว่าจะประหยัดพลังงานได้ 8-10% ของการใช้พลังงานทั่วประเทศ
ที่กล่าวมานี้ ถือเป็นประเทศตัวอย่าง ที่กำลังรับมือกับวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น และแนวทางการรับมือค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพราะประหยัดได้มากเท่าใด จะยิ่งช่วยลดปริมาณการนำเข้าเชื้อเพลิงที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าน้อยลงเท่านั้น ค่าไฟก็จะถูกลงได้ และยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนลงได้ด้วย
เฉพาะเพียงมาตรการที่ลดการใช้พลังงานหน่วยงานของรัฐลง 20% หากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายภายในปี 2565 นี้ จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 120 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 600 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 70,800 ตันเทียบเท่าคาร์บอน ไดออกไซด์ และลดการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นเงินมูลค่า 420 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ 26,275 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ รวมลดปริมาณการใช้พลังงานลงคิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97,075 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์