นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่มีการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและการค้าระหว่าง เวียดนามกับไทย ที่ต้องการยกระดับราคาข้าวในตลาดโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งในส่วนของไทยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระดับสูง มีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานทำหน้าที่ประสานงานการขับเคลื่อนความร่วมมือ
ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกของความร่วมมือของทั้งสองประเทศในการช่วยเหลือชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาที่เป็นธรรมจากการค้าข้าวในตลาดโลก ขณะที่มุมมองของผู้ส่งออกข้าวไทยเห็นว่าน่าจะรวมไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทยที่ยังมีอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักและส่งออกได้ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า อยู่ในอุตสาหกรรมข้าวมา 40 ปี ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการข้าวไทยมาโดยตลอด ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมข้าวไทยคือการไม่มีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดโลก ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องยอมรับว่าไทยสู้คู่แข่งไม่ได้
ไม่ได้มีการพัฒนามาเกือบ 30 ปี ทั้งนี้จากที่อยู่ในวงการข้าวมา 40 ปี ข้าวไทยที่เป็นที่รู้จักและขายได้มีแค่ 3 ชนิดเท่านั้น (ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง) พันธุ์ข้าวก็พันธุ์เดิม ๆ ที่ไทยมีอยู่ เรื่องเดียวที่ไทยทำได้คือ ราคาเพื่อให้แข่งขันได้ ส่วนเรื่องคุณภาพเริ่มด้อยลง ขณะที่อินเดีย และเวียดนามแซงหน้าไทยไปไกลมากแล้วในเรื่องของพันธุ์ข้าว
“จะเห็นได้ว่านโยบายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะเน้นดูแลแต่เรื่องราคาข้าวเปลือกของชาวนาให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ แทนที่จะพัฒนาเรื่องผลผลิต และคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นอุปสรรคในการส่งออก คุณภาพข้าวไม่ดีแต่อยากขายแพง ซึ่งในตลาดเสรีไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขส่งออกข้าวของไทยลดน้อยลงเรื่อย ๆ”
สิ่งที่เอกชนต้องการในวันนี้คือ การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ออกมาให้ตรงกับตลาด อย่าไปคิดว่าข้าวของไทยดีแล้วหยุดอยู่กับที่ รวมถึงต้องเร่งแก้กฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการรับรองพันธุ์ข้าวต้องได้รับการแก้ไข และรัฐบาลต้องเอาเรื่องนี้มาคุยอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาพันธุ์ข้าวไทยมีจำนวนมาก ทั้งจากการวิจัยและพัฒนาจากมหาวิทยาลัย หรือมูลนิธิต่าง ๆ ที่ต้องเอาพันธุ์มาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกันที่ภาคเอกชนและผู้ส่งออกข้าว อยากเห็นมากที่สุดคือ อยากให้มีการตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมข้าว หรือ “ไรซ์ บอร์ด” (Rice Board) เพื่อรวบรวมผู้ที่มีส่วนได้-เสียในอุตสาหกรรมมาช่วยกันกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นสมาคมผู้ส่งออกไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมชาวนา สมาคมการค้าเมล็ดข้าวไทย มาเป็นคณะกรรมการและช่วยกันคิดร่างนโยบายให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายให้มากที่สุด โดยกำหนดเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติการระยะสั้น กลาง ยาว ให้เป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลใดเข้ามาต้องสานต่อ
“การพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีถ้าเราไม่มีนโยบายที่แน่นอนก็จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายพันธุ์ข้าวไปเรื่อยๆ ดังนั้นที่อยากเห็นคือ ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามา ก็ต้องเดินตามนโยบายของไรซ์บอรด์ที่วางไว้ให้มีความต่อเนื่อง ซึ่งก็มีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาและก้าวหน้าไปได้ เพราะมีนโยบายที่มั่นคงและทำจริง จากที่ผ่านมาพอรัฐบาลใหม่เข้ามาก็มีการเปลี่ยนโยบาย ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น แนะนำคนวงการข้าวว่าขอให้เลือกคนที่เข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ เข้ามาแก้ไขจริงจัง ไม่ใช่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปทิ้งปัญหาไว้ให้คนอื่นมาแก้ต่อ” นายเจริญ กล่าว
ข่าวฉบับ 3817