ในงานสัมมนา NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ช่วงการเสวนา “แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน”จัดโดยฐานเศรษกิจ
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “โอกาสประเทศไทย กับการพัฒนาพลังงานสะอาด” ใจความสำคัญระบุว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีหน้าที่ผลักดันให้เกิดโครงการดี ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นศูนย์ (ปี 2065)ตามที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้ไปประกาศไว้ในเวที COP26
ทั้งนี้โรดแม็ปของโลกกำลังมุ่งสู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก๊าซเรือนกระจกของโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม 1 คือการปล่อยปกติ และกลุ่ม 2 คือตัวดูด(ก๊าซ) ซึ่งขณะนี้ตัวปล่อยมากกว่าตัวดูด ซึ่งปัจจุบันโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านตันต่อปี ยังเหลือที่ยังปล่อยได้อีกประมาณ 500 กิ๊กกะตัน หากปล่อยมากกว่านี้อุณหภูมิโลกจะสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเราพยายามต้องเดินตามนี้ คือเศรษฐกิจก็ต้องเติบโตขึ้นไป และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ต้องลดลง โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซฯมากที่สุด
อย่างไรก็ดีเราไม่สามารถที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ต้องมีการกักเก็บควบคู่กันไป ที่ง่ายที่สุดคือการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องส่งเสริม และไทยก็มียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ แต่หากไม่ปลูกต้นไม้ก็ต้องใช้ CCS (การใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์)
สำหรับจุดแข็งของไทยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จำเป็นที่ต้องลดในจุดที่เรามีศักยภาพสูงสุดและมีต้นทุนต่ำ และต้องทำให้ค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานของไทยต้องแข่งขันได้ด้วย เช่น การจัดการขยะ การดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อต้นทุนต่ำลงก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
“ในส่วนของ อบก.เป็นองค์กรหลักในการควบคุม และกำกับดูแลมาตรฐานการประเมิน การส่งเสริมให้เกิดอีโค-ซิสเต็ม(ระบบนิเวศ)ในการลดก๊าซเรือนกระจก วันนี้ทั่วโลกเห็นแล้วว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหา และพยายามกดดันให้ผู้ปล่อยจะต้องรับผิดชอบ ส่งเสริมให้มีการลด โดยการใช้กฎหมายบังคับ เรื่องของการเสียภาษี มีการรายงาน และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อลดต้นขององค์กรที่ยังต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอยู่”
สหภาพยุโรป(อียู)เป็นผู้นำในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสร้างกฎหมาย และอื่น ๆ ในการนำไปสู่การลดคาร์บอนด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ดีก็เป็นโอกาสของโลว์คาร์บอนโปรเจ็กต์ ดีเวลล็อปเปอร์ หรือองค์กรใหม่ ๆ ที่อยากเชิญชวนมาคิดมาทำและสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ รวมถึงบริษัทใหญ่ ๆ ที่แตกบริษัทลูกออกมาทำด้วย ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของไทยและของโลกด้วยในเรื่องกรีนโปรเจ็กต์ เรื่องป่า เรื่องเกษตร ซึ่งเป็นโอกาสที่จะลงทุนอีกมาก
“ถ้าเราสามารถสร้างอีโค ซิสเต็มให้ 2 คนมีประโยชน์ร่วม คือ ฝั่งที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซก็จะต้องรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งมีทั้งกฎหมาย และอื่น ๆ และการแลกเปลี่ยนความสำเร็จของการลดก๊าซเรือนกระจก หรือกลไกตลาด โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนที่ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เยอะ กับคนที่สามารถสร้างอีโคซิสเต็มได้ราคาถูก เกิดการซื้อขายตลาดคาร์บอน”
นายเกียรติชาย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ 271 องค์กรได้รวมตัวกันที่เรียกว่า Carbon Neutral Network กลุ่มนี้พยายามร่วมมือกันในการดูแลเกี่ยวกับต้นทุน ขณะนี้เดียวกันก็มีองค์กรใหม่ตั้งสตาร์ทอัพ หรือการลงทุนใหม่เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด และสร้างเครดิตเพื่อไปขายให้กับองค์กรขนาดใหญ่เฉพาะอย่างยิ่งโปรเจ็กต์ป่าไม้ซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด เสริมกับการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้ไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้
ในส่วนของตลาดกลางคาร์บอนของประเทศไทย ขณะนี้ผู้ประกอบการตื่นตัวมาก โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา อบก.ได้ตั้งเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network (เครือข่ายนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประชาคมโลกในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส)
ล่าสุดมีผู้เข้าร่วม 271 องค์กร ซึ่งตั้งเป้าอยากให้มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 องค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อการปรับตัวเพื่อให้มีต้นทุนต่ำสุด ส่วนองค์กรขนาดเล็กที่พร้อมจะลงทุนด้านการปลูกป่าก็สนใจเรื่องการขายเครดิตจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมาเราได้คาร์บอนเครดิตประมาณ 4 ล้านตัน
“ล่าสุดวันที่ 21 กันยายนนี้ เรากำลังจะลงนามกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการทำตลาดเทรดดิ้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพื่อพยายามให้คนมาซื้อขาย(คาร์บอนเครดิต)กันมากขึ้น ซึ่งเรื่องมาตรฐาน เรื่องตลาดเราพยายามสร้างให้เร็วและให้มีมากขึ้น มีคนมาทำโปรเจ็กต์มากขึ้น เราพยายามทำอีโค ซิสเต็มให้คนมาเทรด และสุดท้ายคือการพัฒนาตัวระบบมาตรฐานให้เป็นระดับโลกเพื่อให้แลกเปลี่ยนกับประเทศอื่นได้ เช่น กับสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันแล้ว” นายเกียรติชาย กล่าว