นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.
ทั้งสองหน่วยงานยินดีให้การสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันพร้อมจัดตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหา และนายวราวุธ ได้ออกคำสั่งและติดตามการดำเนินงานร่วมของ ทส.กับ กทม. มาโดยตลอด เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
นายจตุพรระบุว่า ล่าสุด ได้มอบหมายนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธาน การประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินความร่วมมือด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม.โดยมีหน่วยงานใน ทส.ประกอบด้วย คพ. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
กรมป่าไม้ (ปม.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ประชุมหารือร่วมกับ นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ กทม. และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. มีแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือในประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ให้ คพ. และ กทม. ร่วมกันลงพื้นที่ และเตรียมวางแผนการตรวจวัดควันดำจากยานพาหนะ โดยให้ กทม. ส่งข้อมูลจำนวนอู่รถขนาดใหญ่/รถบรรทุก เพื่อติดตามตรวจวัดควันดำ ข้อมูลพื้นที่เกษตรที่มีการเผา
เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากประชาชนในการห้ามเผา รวมทั้งหาช่องทางที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแจ้งข้อมูล มีมาตรการเสริมในช่วงภาวะวิกฤตด้านฝุ่นละออง เช่น Work From Home
2. การแก้ไขปัญหาน้ำเสียและปัญหาการทิ้งขยะในคลองหัวลำโพง คพ. ร่วมกับ สส. และ กทม. ลงพื้นที่ร่วมกันเพื่อวางแผนการดำเนินงาน รณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะและน้ำเสียลงคลอง สนับสนุนเรื่องการดูดสิ่งปฏิกูลให้กับบ้านเรือน ให้คำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียในตลาดคลองเตย เพื่อบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน และขอความร่วมมือทหารในการขุดลอกคลอง
3. การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน คพ. ร่วมกับ สส. และ กทม. ร่วมกันลงพื้นที่และหาพื้นที่นำร่องเพื่อทดลองดำเนินกิจกรรมการคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ครัวเรือน การเก็บขนแบบคัดแยก การนำขยะไปใช้ประโยชน์ การลดขยะส่วนเกินที่จะเป็นขยะอาหาร การรณรงค์คัดแยกขยะ การขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนปลอดขยะ โรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียน Eco School การสนับสนุนเครือข่าย ทสม. ในการร่วมกิจกรรมของชุมชน
4. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ ปม. ร่วมกับ กทม. ในการสนับสนุนการเพาะพันธุ์กล้าไม้ การอบรมเพื่อเป็นรุกขกรทุกเขต
5. การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนและการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นเพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียน ความยาว 7 กิโลเมตร ให้ ทช. ร่วมกับ กทม. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปลูกป่าชายเลน โดยลงพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าชายเลนและสนับสนุนการปักไม้ไผ่เพื่อลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและเพิ่มเลนงอกใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน
6. การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ สผ. ร่วมกับ อบก. และ กทม. สนับสนุนองค์ความรู้และสนับสนุนการดำเนินงานที่จะให้ กทม. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต และสนับสนุนหน่วยงานภายใน กทม. ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และ 7. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ สผ. ร่วมกับ กทม. สนับสนุนองค์ความรู้บุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแจ้งผลการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ สผ. พิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานและนัดหมายการลงพื้นที่เพื่อวางแผนและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม. ต่อไป นายจตุพร กล่าว