"แพทองธาร" บี้คลัง เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนด่วน 9.3 แสนล้าน ตามงาน มี.ค.นี้

07 ก.พ. 2568 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2568 | 05:11 น.

นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร สั่งรมว.คลัง ประสานทุกหน่วยงานเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนด่วน 9.3 แสนล้านบาท หวั่นหลุดเป้าหมาย เตรียมนัดประชุมติดคามความคืบหน้าเดือนมีนาคม 2568 นี้

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ประสานกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินการ เบิกจ่ายงบประมาณ ของทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุน ให้แล้วเสร็จโดยเร็วและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้ถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย 

อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม 2568 นี้ นายกฯ จะมีการประชุมเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้า ในการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการอีกครั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้โดยเร็ว

สำหรับผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 24 มกราคม 2568 จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง รายงานว่า ณ วันที่ 24 มกราคม 2568 วงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 9.3 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 17.5% หากรวมการก่อหนี้ผูกพัน มีการใช้จ่ายที่ 2.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.8%

โดยจำนวนเงินที่ต้องเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของงบประมาณ 2568 (วันที่ 25 มกราคม - 30 กันยายน 2568) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ 80% ตามประมาณการของกรมบัญชีกลาง อยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 62.5% 

ทั้งนี้ ณ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2568 ผลอัตราการเบิกจ่ายการลงทุนที่ 17.5% เบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น 0.5% น้อยกว่าที่ต้องเบิกจ่ายต่อสัปดาห์ที่ 5.8% เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ณ สิ้นเดือนที่กรมบัญชีกลางคาดการณ์ไว้ที่ 23.3%

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนในสัปดาห์ถัดไป โดยมีแนวทางดังนี้

1. งบกระทรวง ควรเร่งรัดการลงทุน โดยเฉพาะกระทรวงที่มีวงเงินขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • กระทรวงคมนาคม (วงเงินลงทุน 1.8 แสนล้านบาท)
  • กระทรวงมหาดไทย (วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท)
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (วงเงินลงทุน 8.8 หมื่นล้านบาท)
  • กระทรวงกลาโหม (วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท)
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (วงเงินลงทุน 3.1 หมื่นล้านบาท)

2. งบจังหวัด ควรเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะจังหวัดที่มีวงเงินขนาดใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนให้เม็ดเงินหมุนเวียนสู่จังหวัดต่าง ๆ ได้แก่

  • นครราชสีมา (วงเงินลงทุน 356.4 ล้านบาท)
  • ชลบุรี (วงเงินลงทุน 329.8 ล้านบาท)
  • สมุทรปราการ (วงเงินลงทุน 298 ล้านบาท)
  • เชียงใหม่ (วงเงินลงทุน 296.3 ล้านบาท)
  • ขอนแก่น (วงเงินลงทุน 290.2 ล้านบาท)