thansettakij
คลังเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. 6 ประเด็น ป้องกันความเสียหายตลาดทุน

คลังเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. 6 ประเด็น ป้องกันความเสียหายตลาดทุน

27 มี.ค. 2568 | 09:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 09:13 น.

คลังเผย ครม.มีมติอนุมัติ ร่างพ.ร.ก. ให้อำนาจก.ล.ต. เบ็ดเสร็จ 6 ประเด็น ระบุสืบสวน สอบสวนคดี ยึดทรัพย์ได้ ป้องกันความเสียหายตลาดทุน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..... (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทั้งนี้ จะช่วยยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนให้มีความรัดกุมและเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและนักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) โดยเพิ่ม

  • หน้าที่ของผู้ลงทุนในการขายชอร์ตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องแสดงได้ว่ามีการยืมหลักทรัพย์ก่อนส่งคำสั่ง เป็นต้น
  • หน้าที่ของผู้ให้บริการในต่างประเทศรายงานข้อมูลผู้ถือหลักทรัพย์ที่แท้จริงต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)
  • มาตรการลงโทษทางอาญา กรณีผู้ทำการขายชอร์ตฝ่าฝืนหลักเกณฑ์

2. การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการในตลาดทุน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชี สำนักงานสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนที่อยู่ต่างประเทศ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบ หลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่

และมาตรการลงโทษทางอาญาในกรณีที่มีการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง และโทษปรับเป็นพินัยกรณีที่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย โดยยังคงมีโทษทางปกครอง เช่น การพักการประกอบการ การเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นต้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดปัญหาทุจริตฉ้อฉล

3. การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลายจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยังไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย ทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ต้องดำเนินการด้วยตนเองทั้งกระบวนการ

4. การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และมีบทกำหนดโทษหากฝ่าฝืน รวมถึงให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อประชาชน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่สำคัญครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

เนื่องจากที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่นำไปจำนำหรือก่อภาระผูกพันไว้กับบุคคลอื่นในจำนวนที่เป็นนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายกำกับดูแลให้รายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์

5. การกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งธุรกรรมที่อาจเป็นการเอาเปรียบหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน (Preventive Measure) กรณีมีการทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทหลักทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อนิติบุคคลและประชาชนผู้ลงทุน และบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว

รวมถึงเพิ่มบทบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิด มีอำนาจในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด และมีอำนาจปล่อยทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำเนินการค้าตามปกติได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถป้องกันความเสียหายและพิทักษ์ประโยชน์ของผู้ลงทุนในตลาดทุนได้

6. การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ (High Impact) โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดในคดี High Impact

เนื่องจากเป็นผู้ใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที