ในที่สุดร่าง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ก็ฝ่าด่านใหญ่สำเร็จ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย และเตรียมเสนอเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในลำดับต่อไป
ต้องยอมรับว่ากฎหมายเรือธงของรัฐบาลฉบับนี้ พยายามผลักดันให้ประเทศไทยมี “สถานบันเทิงครบวงจร” เป็นครั้งแรก และกว่าจะถึงชั้นครม. ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านด่านหิน และต้องเปิดประชาพิจารณ์มากถึง 5 ครั้ง ก่อนที่กฎหมายจะสะเด็ดน้ำ และในขั้นตอนต่อไปยังมีข้อเสนออีกมากมายที่จำเป็นต้องไปถกกันต่อในชั้นสภา
ฐานเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น เพื่อฉายภาพของร่างกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ผ่านครม. ไปหมาด ๆ แบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียด และแนวทางการขับเคลื่อนในระยะต่อไปแบบเจาะลึก ดังนี้
กฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่ามหาศาล ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่เรื่องการทำกาสิโน แต่จะเป็นการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ที่เป็น Man-made Tourist Destination นับเป็นโมเดลทางธุรกิจขนาดใหญ่
โดยที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแก้ไขเนื้อหาหลายส่วน ทั้งการกำกับ ควบคุม และการกำหนดโทษ โดยกฎหมายฉบับนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะจะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านบาทต่อจุด
รวมไปถึงเงินได้จากภาษี ค่าธรรมเนียม เงินที่ประชาชนจะได้รับจากการจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ทั้งโรงแรม และการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาในเชิงสังคมด้วย
สถานบันเทิงครบวงจร เป็นหนึ่งในโมเดลทางเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยก็ไม่ใช่ที่แรกของโลกที่คิด เพราะสถานบันเทิงครบวงจร เกิดขึ้นในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งลาสเวกัสของสหรัฐอเมริกา หรือมารีนาเบย์ของสิงคโปร์ หรือมาเก๊า เช่นเดียวกับที่โอซาก้าของญี่ปุ่น และอีกแห่งที่ดูไบ ที่กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นโมเดลการดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับประเทศ
สำหรับสิ่งสำคัญของการผลักดันให้เกิดสถานบันเทิงครบวงจร นั่นคือ การสร้าง Man-made Tourist Destination หรือสิ่งก่อสร้างใหม่ที่คนสร้างขึ้นมาแทนที่จะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ จะสามารถสร้างเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่เรื่องของการลงทุนในระดับที่ไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทเพียงแค่จุดเดียว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มารีนาเบย์แซนส์ (Marina Bay Sands) ของสิงคโปร์ เมื่อ 20 ปีก่อน ใช้เงินลงทุนเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือว่า 2.4 แสนล้านบาท และเมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญา โดยกำหนดให้ลงทุนเพิ่มอีก 8,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท เงินลงทุนดังกล่าวนี้เป็นเงินลงทุนขนานใหญ่ และในจำนวนนี้ไม่เกิน 10% เป็นกาสิโนถูกกฎหมาย
ส่วนการลงทุนอีก 90% นั้น จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ประกอบเป็นสถานบันเทิงครบวงจรระดับโลก นั่นคือ โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์ประชุมไมซ์ ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ สถานกีฬาในร่วม (Indoor Stadium) หรือสวนสนุกระดับเวิลด์คลาส ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยว และเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก
“การลงทุนในลักษณะนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาด และช่วยสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก ตัวอย่างของสิงคโปร์ ในรอบ 20 ปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากปีฐานได้ 10-25% ส่วนไทยเองเชื่อว่าจะทำได้ดี เพราะตลาดการท่องเที่ยวเติบโตกว่า จึงสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มอีก 5-10% เช่นเดียวกับการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างจะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อย 20,000 บาทต่อคนต่อทริป” นายจุลพันธ์ ระบุ
นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า ตามเป้าหมายของการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจร จะดึงดูดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศ ไม่นับรวมเรื่องของการลงทุนที่จมีเงินลงทุนอย่างน้อยจุดละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท รวมทั้งยังมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่าจุดละ 15,000-20,000 คน เช่นเดียวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง ปูน ทราย ไฟฟ้า ประปา เมื่อลงทุนเสร็จแล้ว จะเป็นเงินท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และไหลไปสู่ภาคธุรกิจอื่น ทั้งร้านอาการ และโรงแรมที่อยู่บริเวณโดยรอบด้วย
“เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รัฐบาลเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในเชิงบวกกับประเทศอย่างแน่นอน” นายจุลพันธ์ ยืนยัน
สำหรับโมเดลการพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรนั้น รมช.จุลพันธ์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้พิจารณาโมเดลในการทำสถานบันเทิงครบวงจร หลายประเทศ แต่หลัก ๆ จะใกล้เคียงกับสิงคโปร์ เพราะมีโมเดลการพัฒนาที่ชัดเจนหลาย ๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ที่เริ่มต้นจากเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ก่อน
ส่วนในบางประเทศอาจจะเริ่มต้นจากการเป็นกาสิโนมาก่อน แล้วจึงพัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ภายหลัง โดยในส่วนของประเทศไทยเองก็พิจารณาโมเดลคล้าย ๆ กับสิงคโปร์ ด้วยการดึงดูดการท่องเที่ยว และเมื่อกฎหมายออกมาแล้ว และเริ่มต้นขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ที่จะตั้งสถานบันเทิงครบวงจรว่ามีกี่จุด และพื้นที่ใดที่มีศักยภาพแล้ว จะได้รับทราบด้วยว่า การพัฒนาแต่ละพื้นที่เหมาะสมด้านไหนบ้าง
“ในบางพื้นที่อาจเหมาะสมกับการก่อสร้างสนามกีฬา บางพื้นที่อาจสร้างเป็นสนามแข่งรถ F-1 หรือบางพื้นที่จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ รัฐจะได้กำกับดูแลได้ว่าทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในอนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร” รมช.จุลพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดีในผลกระทบเชิงสังคม โดยพาะการป้องกันไม่ให้คนไทยติดการพนันเพิ่มนั้น รมช.คลัง อธิบายว่า ขณะนี้มีกลไกหลายอย่างที่จะเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น Self Declare เมื่อผู้ที่จะเข้ามาในสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อไปเล่นกาสิโน โดยถูกกำหนดห้ามเล่นเกิน 10 ชม.ต่อเดือน เมื่อเข้าไปเล่นแล้ว จะมีระบบเทคโนโลยี AI ตรวจจับใบหน้า หากเล่นเกิน 10 ชม. จะมีการแจ้งเตือนทันที
หรือมีลักษณะ Third Party คือ การรับแจ้งให้ตรวจสอบหาบุคคลในครอบครัวที่เข้ามาเล่นกาสิโนจนทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อครอบครัว เมื่อถูกตรวจพบแล้วบุคคลนั้นก็อาจถูกแบล็กลิสต์ไม่ให้เข้ามาเล่นได้ ซึ่งทั้งหมดนั้นจะมีกลไกในการกำกับที่ชัดเจน
อีกส่วนหนึ่งเป็นการดูแลช่วยเหลือผู้ที่อยู่โดยรอบสถานบันเทิงครบวงจร โดยจะมีเงินส่วนหนึ่งจะกันเอาไว้เพื่อดูแลชุมชนใกล้กับสถานบันเทิงครบวงจร การช่วยเหลือด้านการศึกษา และอีกส่วนคือการไปเยียวยาแก้ไขปัญหา เช่น ผู้ที่เข้าไปแล้วเกิดปัญหาเชิงลบ หรือติดการพนัน เป็นต้น
“วันนี้บอกว่าเราไม่ปฏิเสธความจริงว่า ประเทศไทยมีกาสิโนที่ผิดกฎหมาย และต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย เรารู้ถึงปัญหานี้ แต่วันนี้เราจะดึงเขากลับมา เพื่อให้เขาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล อยู่ในสายตาของรัฐในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา ผ่านเงินที่รัฐบาลกันไว้แล้ว เพราะปัจจุบันคนกลุ่มนี้เมื่อเกิดปัญหารัฐก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมองไม่เห็น และไม่สามารถเอื้อมือเข้าไปช่วยได้” รมช.คลัง ยอมรับ
สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากครม.เห็นชอบร่างกฎหมายแล้ว หน้าที่ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยจะต้องดูว่ามีการแก้ไขอย่างไรกับกฎหมายฉบับนี้ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต เบื้องต้นไทม์ไลน์ของการเสนอกฎหมายนั้น ขณะนี้เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ คือวันที่ 2-3 เมษายน และ 9-10 เมษายน นี้ จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจึงได้เสนอรัฐสภาให้บรรจุเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะเร่งผลักดันกฎหมายออกมาให้เร็วที่สุด
"ขณะนี้ได้คุยกับนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ในฐานะวิปของครม. จะไปเจรจากับทางสภาว่า จะมีการเลื่อนระเบียบวาระให้เร็วขึ้น เพื่อจะเข้าได้ทันสมัยประชุมนี้ จากนั้นจึงตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายละเอียดในชั้นนี้ ก่อนจะเข้าวาระ 2-3 ต่อไป เพราะโครงการลักษณะนี้จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น" นายจุลพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย