บอร์ด BOI ล่ม กังขา สมอ. อนุมัติโรงงานเหล็ก “ซิน เคอ หยวน” ผ่าน มอก.

04 เม.ย. 2568 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2568 | 05:36 น.

ประชุมบอร์ด BOI ล่ม กังขา สมอ. อนุมัติโรงงานเหล็ก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ผ่าน มอก. 20 ม.ค.2568 หลังตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ซ้ำอีกครั้ง หลังรอบแรกไม่ผ่าน

กรณีการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเกิดการพังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีเหล็ก 2 ขนาด คือ 32 มม. และ 20 มม. ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. 

โดยพบว่าเหล็กชนิดดังกล่าวมียี่ห้อที่ตราประทับแสดงถึงชื่อบริษัท SKY ซึ่งเป็นตัวย่อของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด จนทำให้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ออกมาระบุว่า หากผลตรวจสอบเหล็กของ ซิน เคอ หยวน ไม่ได้มาตรฐาน ก็พร้อมพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตโรงงาน และเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ไปแล้ว

ล่าสุดแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เดิมนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ ได้เตรียมนัดประชุมบอร์ดนัดพิเศษในวันที่ 4 เมษายน 2568 เพื่อพิจารณายกเลิกการให้สิทธิบีโอไอกับ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด แต่กลับพบว่า ยังติดขัดเรื่องเอกสารข้อมูลของบริษัทเอกชนรายดังกล่าวจากทางกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งแจ้งมาว่ายังไม่พร้อม ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไป

แหล่งข่าว ระบุถึงสาเหตุว่า จากการตรวจสอบข้อมูล พบเอกสารของทางอุตสาหกรรม มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด เกี่ยวกับผลการตรวจติดตามระบบการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์

โดยการเข้าไปตรวจโรงงานครั้งล่าสุด เมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา สมอ.ให้บริษัทดังกล่าวผ่านมาตรฐาน มอก. แม้ว่าก่อนหน้านี้โรงงานเหล็กของบริษัทดังกล่าวจะถูกตรวสอบว่าไม่ผ่านมาตรฐาน

สำหรับรายละเอียดของหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ตามที่ สมอ. ได้ตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ภายหลังการอนุญาต ณ โรงงาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ปรากฏว่า ผลการตรวจสอบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบเพื่อการอนุญาต (ภาคผนวก ก) จึงมีหนังสือแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตตามมาตรา 40

ต่อมาบริษัทได้มีหนังสือนำส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานการพิจารณาการแก้ไขข้อบกพร่อง และสมอ. ได้เข้าตรวจสอบการแก้ไขข้อบกพร่องของการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ณ โรงงานอีกครั้ง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 นั้น

สำนักงานฯ จึงขอแจ้งผลการตรวจระบบควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และขอยกเลิกหนังสือ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่เตือนก่อนสั่งพักใบอนุญาตตามมาตรา 40 กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต จึงเรียนมาเพื่อทราบ