แผ่นดินไหวล่าสุดที่ประเทศเมียนมาสร้างผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ทั้งที่เมียนมา และไทย
โดยเฉพาะกรณีตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ซึ่งทำให้มีผุ้เสียชีวิตมากกว่า 13 ราย และผู้สูญหายอีกว่า 70 ราย
ประเด็นคำถามต่างมุ่งตรงไปที่สาเหตุของตึก สตง. ถล่มว่ามาจากปัจจัยใด ทั้งเรื่องของโครงสร้าง วัสดุที่ใช้
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือเรื่องของคุณภาพเหล็กที่ถูกนำมาใช้สร้างตึก สตง. ดังกล่าว หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมเก็บตัวอย่างเหล็กตึก สตง. ที่ถล่มไปตรวจสอบและพบว่า เหล็กข้ออ้อยไม่ได้มาตรฐาน 2 ไซส์ คือ ขนาด 20 มม. และ 32 มม. ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เป็นเหล็กที่มาจากโรงงานที่กระทรวงอุตฯสั่งหยุดการดำเนินงานไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีในการผลิตเหล็กไปก่อนหน้านี้พบว่ามีเทคโนโลยีเตาหลอม 2 ประเภทหลัก ได้แก่ เตา Electric Arc Furnace (EF) และเตา Induction Furnace (IF) โดยที่ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเหล็กต่างให้ความเห็นตรงกันว่า เตา EF ดีกว่า IF
ไขข้อสงสัยคุณภาพเหล็กเตา “EF-IF” หนึ่งสาเหตุทำตึก สตง. ถล่ม
ทั้งนี้ จึงได้เจาะลึกลงไปเกี่ยวกับโรงงานผลิตในประเทศไทย พบว่า
มีโรงงานที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี IF ในไทยทั้งหมด 10 บริษัท เมื่อฐานเศรษฐกิจสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นของผู้ผลิตเหล็กในไทยที่ใช้เตาหลอม IF พบ 7 จาก 10 บริษัทมีผู้ถือหุ้นหลักเป็นคนไทย
ขณะที่ 2 บริษัทถือหุ้น 100% โดยต่างชาติ
ปราจีนบุรีศูนย์กลางโรงงานเหล็ก IF
อย่างไรก็ดี จากการรวบรวมข้อมูลผู้ผลิตเหล็กที่ใช้เตา IF ในไทยจำนวน 10 บริษัท พบว่าส่วนใหญ่มีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดปราจีนบุรีมากถึง 5 แห่ง โดยมีรายละเอียดผู้ถือหุ้นรายใหญ่และสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้
- บริษัท บี เอ็น เอส เอส สตีลกรุ๊ป จำกัด (จังหวัดชลบุรี) มี "กมลทิพย์ เมธีธนวิจิตร์" ถือหุ้นรายใหญ่ 63.69% ร่วมกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย 16.95% ขณะที่สัดส่วนทั้งหมดเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 100%
- บริษัท เอบี สตีล จำกัด (จังหวัดสระแก้ว) มีทุนต่างชาติจากจีนถือหุ้น 49% โดย "ฉี เหวิน เจีย" ส่วนที่เหลือเป็นคนไทย 2 ราย คือ "ลินดา ซู่" และ "อรรณพ จึงจิรโชติ" รายละ 25.5%
- บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) (จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมี "อนาวิล จิรธรรมศิริ" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 51% มีผู้ถือหุ้นรายสำคัญอื่น เช่น MISS MAN WAI KOO ถือหุ้น 5.06%
- บริษัท หลิ่ง หนัน สตีล จำกัด (จังหวัดนครปฐม) มีผู้ถือหุ้นไทย 76.67% นำโดย "ศักดิ์ชัย ธนบดีจิรพงศ์" ถือหุ้น 27.5% ส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติคือ "โจว กวนอี้" สัญชาติจีน ถือหุ้น 23.33%
- บริษัท ไทยซิง สตีล จำกัด (จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นทุนต่างชาติทั้งหมด มีบริษัท "ฝูเจี้ยน ฉวินเฟิง อินเวสเม้นท์" จากจีนถือหุ้นรายใหญ่ 84.88% และ "เจียลี่ คอมปะนี ลิมิเต็ด" สัญชาติสิงคโปร์ถือหุ้น 14.59%
- บริษัท ที.เอส.บี.เหล็กกล้า จำกัด (จังหวัดปราจีนบุรี) มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 100% โดยมีบริษัทโฮลดิ้งในไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ ที.เอส.บี. กรุ๊ป โฮลดิ้ง (47.5%) และแอมเพิ้ล โฮลดิ้งส์ 1979 (34%)
- บริษัท ไทยเฮง สตีล จำกัด (จังหวัดเพชรบุรี) ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 100% โดย "ศิริโรจน์ แซ่อึ้ง" และ "สิริธรรม แซ่อึ้ง" ถือหุ้นรวมกัน 66%
- บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด (จังหวัดปราจีนบุรี) เป็นทุนต่างชาติทั้งหมด นำโดย "เผิงหลง จราน" สัญชาติสิงคโปร์ ถือหุ้น 75% ที่เหลือเป็นนักลงทุนจีน 3 ราย รวม 25%
- บริษัท เค.พี.พี. สตีล จำกัด (จังหวัดปราจีนบุรี) มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 100% โดยตระกูล "ประสงค์สุกาญจน์" เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถือหุ้นรวมกันเกือบ 75%
- บริษัท ตงเป่าสตีลอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (จังหวัดนครราชสีมา) มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 100% มีเพียง 2 ราย คือ "อิทธิ ตั้งสีฟ้า" (57.89%) และ "วิภาดา ปิดตานัง" (42.11%)
หมายเหตุ : ข้อมูลผู้ถือหุ้นอ้างอิงจากฐานข้อมูล ณ ธันวาคม 2567 ถึงเมษายน 2568