thansettakij
"ดีอี" เสนอ พ.ร.ก. คุมอาชญากรรมออนไลน์ -  สินทรัพย์ดิจิทัล เข้า ครม.

"ดีอี" เสนอ พ.ร.ก. คุมอาชญากรรมออนไลน์ - สินทรัพย์ดิจิทัล เข้า ครม.

04 เม.ย. 2568 | 07:02 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2568 | 08:13 น.

“ประเสิรฐ” เตรียมเสนอ พ.ร.ก. 2 ฉบับ เข้าครม. วันที่ 8 เม.ย.อุดช่องโหวอาชญากรรมออนไลน์– คุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล P2P

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 8 เมษายน 2568 กระทรวงดีอี เตรียมนำ พ.ร.ก. 2 ฉบับให้ ครม.เห็นชอบ และ มีผลบังคับใช้เป็นทางการก่อนสงกรานต์ 2568 สำหรับ พ.ร.ก. 2 ทั้งสองฉบับที่กระทรวงดิจิทัล เข้าที่ประชุมครม. มีดังนี้

  • พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566  (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
  • และ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จากเดิม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล อยู่รวมกับ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมฯ แต่ คณะกรรมการกฤษฏีกา ให้แยกออกมาอีกหนึ่งฉบับจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยทั้งสองฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และ ปรับปรุงรายละเอียดร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ที่เสนอเข้าที่ประชุม แยกภารกิจตามลักษณะของปัญหา โดย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะมุ่งควบคุมธุรกรรม P2P (peer-to-peer หรือ การแลกเปลี่ยนโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง)  ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคริปโตเคอร์เรนซี

 โดยให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแล รวมถึงการจัดการกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานในไทย เช่น ใช้ภาษาไทยหรือบัญชีธนาคารไทย หากไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย โดย  ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบ หากผิดกฎหมาย จะเสนอกลับมาให้อำนาจกระทรวงดิจิทัลฯ ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ทันที

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

 

ในส่วนของ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566   มุ่งเน้นการรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านลิงก์ และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มโซเชียล ต้องมีมาตรการควบคุม หากละเลยจนเกิดความเสียหายจะต้องร่วมรับผิดชอบ พร้อมให้อำนาจ ปปง. ในการคืนเงินเหยื่อได้ หากสามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินได้ชัดเจน โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลเหมือนในอดีต

“เมื่อ ครม.เห็นชอบ มีผลบังคับใช้ทันที หลังจากนั้นต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 30 วัน  คาดว่าจะบังคับใช้ก่อนสงกรานต์นี้”.