thansettakij
ก.ล.ต. มั่นใจ ออกพ.รก.เพิ่มอำนาจปกป้องตลาดทุน สกัดทุจริต ยกระดับความโปร่งใส

ก.ล.ต. มั่นใจ ออกพ.รก.เพิ่มอำนาจปกป้องตลาดทุน สกัดทุจริต ยกระดับความโปร่งใส

28 มี.ค. 2568 | 00:00 น.

ไฟเขียวร่าง พ.ร.ก. แก้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ป้องกันทุจริตตลาดทุนไทย โบรกมองบวกหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืน

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงในหลายๆ เรื่อง เช่น เกี่ยวกับการกำกับดูแลการขายชอร์ต , การกำกับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุนเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการทุจริตของบริษัทจดทะเบียน , การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ และมาตรการทางกฎหมายเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมของบริษัทจดทะเบียน

การออกเป็น พ.ร.ก. ตามที่ ครม. เห็นชอบจะช่วยให้การดำเนินการของ ก.ล.ต. ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทันต่อสถานการณ์ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานในการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อตลาดทุนได้กรณีมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

สำหรับประเด็น การให้ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งฟ้องได้หากอัยการมีความเห็นแย้งและคดีใกล้หมดอายุความนั้น ไม่เป็นความจริง การเป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่มี high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวน เสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นไปตามหลักการ check and balance ตามกระบวนการยุติธรรม และตามอาญาปกติ

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากประเด็นที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ร.ก.) เพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น

ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีอำนาจเพิ่มขึ้น สามารถสืบสวนและสอบสวนความผิดบางประเภทได้ด้วยตนเอง ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการกระทำอันไม่เป็นธรรมกับตลาดทุนไทยเป็นหลัก

ข้อดีคือช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลให้ความจริงจังกับเรื่องของความโปร่งใสในตลาดทุนไทย เพียงแต่การสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมานั้น อาจต้องใช้ระยะเวลา เพราะการดำเนินคดีกว่าจะลุล่วงนั้นก็กินเวลาพอสมควร

ส่วนข้อกังวลที่ว่าเดิมที ก.ล.ต. ก็มีอำนาจในมือพอสมควรแล้ว การเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. ครั้งนี้ จะนำไปสู่การเป็นเครื่องมือทางการเมืองในอนาคตหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลขนาดนั้น เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวเนื่องกับหลักทรัพย์ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว การที่จะดำเนินคดีกับบุคคลทั่วไปนั้น ต้องมีพฤติกรรมที่อยู่ในจุดสุ่มเสี่ยง มีหลักฐานชัดเจนแล้วจึงจะถูกกล่าวโทษ

แต่อย่างไรก็ดี ในอีกแง่มุมหนึ่งด้วยอำนาจของ ก.ล.ต. ที่มีก็ส่งผลต่อผู้ดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์อยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่าง การส่งคำสั่งซื้อซ้ำ 2 ครั้ง ใน บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีปัญหา จะถูกกล่าวโทษ และนำไปสู่การถูกพักงาน โดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าผู้กระทำนั้นมีส่วนร่วม หรือผิดจริงหรือไม่ แต่ถูกแขวนไปก่อนแล้ว

"คนที่เสี่ยงโดนมากที่สุดก็เป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อย เช่น มาร์เก็ตติ้งของหลักทรัพย์ โดยเป็นผลกระทบที่สูงมากต่อชีวิต เพราะเมื่อถูกพักงานก็ไม่ได้รับเงินเดือน ภาระหนี้สินที่มีกลุ่มคนเหล่านี้จะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่บาลานซ์"