วันนี้ (4 เมษายน 2568) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมทั้ง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมประชุมนัดแรก หลังรับคดี อาคารก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มในช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว เป็นคดีพิเศษ
พ.ต.อ.ทวี แถลงตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ตรวจพบกิจกรรมร่วมค้าหรือ Joint Venture ที่เป็นบริษัทไทย 11 รายการ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้รับทำโครงการของรัฐถึง 29 โครงการ จึงอยากให้ดีเอสไอตรวจสอบว่ามีมากกว่านี้หรือไม่ หรือประเด็นไหนที่จะเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่
ส่วนที่ประเด็นการรับงานโครงการรัฐ กรณีนี้ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะบริษัทต่างชาติไม่สามารถที่จะรับงานของรัฐได้ต้องมีบริษัทที่มีคนไทยร่วมด้วยถึงจะรับได้ ส่วนนอมินีที่ปรากฏก็ต้องมีการเรียกมาสอบสวนอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับการจดทะเบียนกิจการร่วมค้า บริษัทต่างชาติไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ต้องมีคนไทยร่วมถือหุ้นร้อยละ 51 และคนต่างด้าวร้อยละ 49 จึงอยากให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปตรวจสอบด้วย เพราะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า 11 บริษัทที่เป็นคนไทย ได้งานมาทั้งหมด 29 โครงการได้อย่างไร
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า DSI ยังตรวจสอบความผิดอื่น คือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) โดยจะต้องดูว่าในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้นนั้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ จากรายงานการตรวจสอบเบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการไปตรวจสอบยังบ้านพักของนายประจวบ (สงวนนามสกุล) ที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว พบเพียงภรรยา ได้ให้ข้อมูลว่า นายประจวบมีรายได้น้อยมาก ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
อีกทั้งนายประจวบกลับมาถึงบ้านก็ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตึก สตง. ถล่มให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร ก่อนออกจากบ้านไปแล้ว 2-3 วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งภรรยาว่าออกไปที่ไหน ซึ่งเราดูแนวโน้มเบื้องต้น มันไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลาย ๆ แห่ง นี่จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง หรือนอมินี และในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณและนายมานัส เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้คณะพนักงานสอบสวน ยังได้จัดทำโครงสร้างรายชื่อกิจการร่วมค้าที่ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้มีการไปเข้าร่วมกับนิติบุคคลหลายแห่ง แต่ในช่วงแรกโฟกัสไปที่กิจการร่วมค้าที่ไปร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะในการแข่งขันราคาในกรณีการก่อสร้างตึก สตง. ส่วนนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน
ส่วนสัญญาที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้าและได้รับงานจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2562 - 2567 จำนวน 29 สัญญา คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า สำหรับพฤติการณ์การเป็นนอมินีแล้วผันตัวไปเป็นกิจการร่วมค้า เป็นการแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อจะเข้าประมูลงานของภาครัฐหรือไม่ ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นน่าสงสัย เพราะจากการตรวจสอบ พบว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สามารถประมูลงานของภาครัฐได้ 29 โครงการ เป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาท
ทั้งนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะพยายามค้นหาความจริงทั้งหมด เพราะท้ายสุดแล้วโครงการทั้ง 29 โครงการนี้ ล้วนได้ก่อสร้าง เพราะโครงการสุดท้าย โครงการที่ 29 พบว่าเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 9,348 ล้านบาท
สำหรับ 11 กิจการร่วมค้าที่ได้ไปร่วมกับ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวก็จะเป็นเรื่องยาก ยืนยันว่ากรรมการในบริษัทอื่น ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพียงแต่แสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมในลักษณะนี้
อย่างไรก็ตามข้อมูลโครงการรัฐที่ดีเอสไอตรวจสอบพบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ไปร่วมจดทะเบียนเป็นกิจการร่วมค้า มีเจตนาประมูลโครงการภาครัฐมีถึง 11 กิจการร่วมค้า และได้มีการประมูลโครงการของภาครัฐไปแล้ว 29 โครงการ วงเงินงบประมาณ 27,803,128,433.13 บาท ดังนี้
1.อาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น ชุมชนดินแดงการเคหะแห่งชาติ 807 ล้าน
2.ศูนย์การเรียนรู้ พัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุ แบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 563 ล้านบาท
3.หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต 129 ล้านบาท
4.เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้า อากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินถนนอรุณอัมรินทร์-บรมราชชนนี-พรานนก การไฟฟ้านครหลวง กทม. 1,261 ล้านบาท
5.อาคารที่ทำการสภถานีตำรวจ สน.สุทธิสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 139 ล้านบาท
6.อาคารบ้านพักส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 231 ล้านบาท
7.อาคารหอพักบุคลากรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 468 ล้านบาท
8.อาคารที่ทำการศาลแรงงานกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม 467 ล้านบาท
9.ระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม ริมคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร 541 ล้านบาท
10.ระบบป้องกันน้ำท่วมบริเวณโดยรอบสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี การประปานครหลวง 372 ล้านบาท
11.วางท่อประปา และงานที่เกี่ยวข้อง การประปานครหลวง 347 ล้านบาท
12.อาคารที่ทำการศาลแพ่งมีนบรุี สำนักงานศาลยุติธรรม 782 ล้านบาท
13.อาคารที่พักหลังใหม่ ท่าอากาศนราธิวาส กรมท่าอากาศยาน 639 ล้านบาท
14.งานเสริมเสถียรภาพและป้องกันน้ำท่วมตามแนวคลองประปรา จ.ปทุมธานี 194 ล้านบาท
15.ทาวน์โฮม2ชั้น โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จ.ภูเก็ต การเคหะแห่งชาติ 343 ล้านบาท
16.อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้าง ของโรงเรียนวัดอมรินทราราม กทม.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 160 ล้านบาท
17.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 716 ล้านบาท
18.อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์ อาคารจักรียฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 146 ล้านบาท
19.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 210 ล้านบาท
20.สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 2,136 ล้านบาท
21.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 540 ล้านบาท
22.สำนักงานศาลยุติธรรม 386 ล้านบาท
23.กองทัพเรือ 179 ล้านบาท
24.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 606 ล้านบาท
25.โรงพยาบาลสงขลา 424 ล้านบาท
26.ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง 9,348 ล้านบาท
27.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 9,985 ล้านบาท
28.แขวงทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี 10,795 ล้านบาท
29.การกีฬาแห่งประเทศไทย 608 ล้านบาท