นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) กล่าวในการเสวนา อีอีซีเดินหน้า...สร้างบทใหม่เศรษฐกิจไทย ในการสัมมนา EEC New Chapter New Economy จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อีอีซีเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก แม้ในช่วงโควิด-19 ลูกค้ามีสอบถามเข้ามาเป็นระยะต่อเนื่องมาตลอด เพียงแต่ช่วงนั้นติดขัดเรื่องเดินทางไม่ได้ หลังโควิดคลี่คลายเวลานี้เริ่มกลับมาแล้ว และเชื่อว่าการลงทุนต่างชาติโดยตรง(FDI)ปีนี้ ตัวเลขFDIของบีโอไอจะฟื้นกลับมาอย่างน่าจับตาแน่
จากเดิมที่นักวิจัยคาดการณ์ว่า ไทยจะใช้เวลา 3 ปี (2565-2567) จึงจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) กลับไปเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นมุมมองแบบอนุรักษ์เกินไป กระแสการฟื้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาเร่งตัวเวลานี้ มั่นใจว่าไม่ถึง 3 ปีเราจะกลับไปเท่ากับก่อนโควิดได้
ซีเอฟโอ WHA กล่าวอีกว่า สัญญาณการเร่งตัวของการลงทุนตรงของต่างชาติที่เร่งตัวขึ้นนี้ เริ่มมีขึ้นหลังรัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(EV Scheme) อย่างชัดเจนนั้น ช่วยกระตุ้นตลาดอีวีในประเทศได้รวดเร็วมาก เวลานี้ค่ายรถเปิดตัวรถอีวีรุ่นใหม่ ๆ กันอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรถยนต์อีวีต่างชาติเห็นว่าตลาดโตพร้อมแล้ว ซึ่งอุตสาหกรรมอีวีเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ WHA ให้ความสนใจ มีนักลงทุนเกี่ยวเนื่องกับอีวีติดต่อเข้ามาไม่ขาดระยะ
ทั้งนี้ WHA มีความพร้อมที่จะรองรับนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แบ่งเป็น 4 กลุ่มบริการ คือ โลจิสติกส์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ 60-70 % เน้นหนักบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัดอีอีซี มีนิคมอุตสาหกรรมเปิดแล้ว 11 แห่งในประเทศ และตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้า จะพัฒนาพื้นที่เปิดให้บริการใหม่ปีละ 1,200 ไร่ รวมทั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีบริการทรัพยากรน้ำ จากที่พื้นที่ภาคตะวันออกเคยเจอปัญหาวิกฤตน้ำแล้ง จากนั้นมา WHA ตัดสินใจพัฒนาระบบการบำบัดและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เวลานี้สามารถดำเนินการจนได้น้ำที่มีคุณภาพดีกว่าน้ำดิบเพื่อรองรับผู้ลงทุน มีกำลังการผลิต 150 ล้านลูกบาศก์เมตร และด้านพลังงานไฟฟ้าภายในนิคมฯ ปัจจุบันมีกำลังผลิต 62 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างเพิ่มอีก 48 เมกะวัตต์
"ลูกค้ายังสอบถามนอกจากโครงสร้างพื้นฐานปกติ ถนน น้ำ ไฟ โทรศัพท์ อินเตอร์เนตแล้ว ยังถามเรื่องพื้นที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ว่าจะติดตั้งตรงไหนได้บ้าง ซึ่งแบ่งนักลงทุนได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมีพื้นที่ตั้งโซลาร์เซลล์สอดคล้องกับความต้องการ กลุ่มที่สองผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ และกลุ่มสุดท้ายผลิตได้มากกว่าที่ต้องการใช้ เวลานี้มีปัญหาคนมีเหลือกับคนที่ขาดยังมาเจอกันไม่ได้ รัฐยังไม่ออกกติกาเรื่องการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างนักลงทุนด้วยกันโดยตรง แต่ก็ได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว หากรัฐออกหลักเกณฑ์มาพร้อมดำเนินการได้ทันที"
ทั้งนี้ นายณัฐพรรษเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและอีอีซีมีจุดแข็งที่พร้อมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะต้ั่งแต่ครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งมี 4 ปัจจัยที่กระทบ คือ
1.การกลับมาเปิดประเทศหลังโควิดคลี่คลาย ซึ่งการฟื้นตัวของแต่ละประเทศมีอัตราเร่งมากน้อยต่างกัน โดยสหรัฐอเมริกาและยุโรปมีตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็ว
2.การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้เปลี่ยนรูปแบบการผลิต หรือห่วงโซ่การผลิตของโลก ที่เชื่อมโยงกันได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3.การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่มีการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจ เกิดจุดล่อแหลมความขัดแย้งกระจายไปหลายจุด และเกิดการจับขั้วแข่งขันระหว่างสหรัฐ-ยุโรป ที่ขัดแย้งกับรัสเซียและจีน และ 4.ผลกระทบดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ จากภาวะเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม โดยภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจุดที่เชื่อมกับโครงข่ายโลจิสติกส์ของโลกได้ มีทั้งฐานการผลิตพื้นที่อีอีซี ต่อเนื่องกับท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางราง และกำลังพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งกำลังพัฒนาแลนด์บริดจ์รองรับการขนถ่ายสินค้าข้าม 2 ฟากสมุทร และมีการปรับตัวรับแนวโน้มโลก อาทิ กระแสลดโลกร้อน ซึ่งในระยะถัดจากนี้ไปจะเห็นเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบกักเก็บคาร์บอน พลังงานสะอาดรูปแบบต่าง ๆ หนาตามากขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนความพร้อมของไทยในการเป็นฐานการผลิตรองรับโลกอนาคต