นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 784 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4% และมูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 42% เนื่องจากในปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก มีเงินลงทุนรวมสูงถึง 75,780 ล้านบาท
สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 358 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 153,480 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมดิจิทัล มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดที่ 42,410 ล้านบาท ขยายตัว 212% อุตสาหกรรมดิจิทัล มูลค่าเงินลงทุน 1,450 ล้านบาท ขยายตัว 202%
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 395 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 130,081 ล้านบาท โดยการลงทุนจากไต้หวันมีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 36,100 ล้านบาท เนื่องจากมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
สอดคล้องกับนโยบายบีโอไอที่มุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันไทยไปสู่ศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค และคาดว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลได้รับความสนใจจากผู้ผลิตยานยนต์อย่างกว้างขวาง
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 217 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 104,850 ล้านบาท โดยจังหวัดระยองมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเงินสูงสุด 85,500 ล้านบาท จาก 86 โครงการ รองลงมา คือจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 16,690 ล้านบาท จาก 110 โครงการ
และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 2,660 ล้านบาท จาก 21 โครงการ ในแง่ของสาขาอุตสาหกรรม เป็นการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถึง 49% เนื่องจากโครงการยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ รองลงมาคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี 30% ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของภูมิภาคอยู่แล้ว
นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 141 โครงการ เงินลงทุน 11,830 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนซึ่งกำลังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าสู่ตลาดด้วย เนื่องจากคู่ค้ารายใหญ่เริ่มกำหนดเงื่อนไขการใช้พลังงานทดแทน
ส่วนมาตรการสิทธิประโยชน์สำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก็ยังเป็นมาตรการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง รองรับโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ภาคการผลิตจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน ส่วนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการ SMEs มีจำนวน 21 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,050 ล้านบาท