นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เน้นสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ไปสู่ Powering Life with Future Energy and Beyond “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังอนาคต”
ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนทุกชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงมากยิ่งขึ้นด้วยพลังงานอนาคต และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าในส่วนของความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท.ก็จะยังทำต่อไป แต่เชื้อเพลิงในรูปแบบเดิมกำลังจะเปลี่ยนแปลง โดยประเมินว่า ถ่านหิน หมดยุคไปตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่การนำกลับมาใช้ในยุโรปขณะนี้เป็นกรณีชั่วคราวเท่านั้น
ขณะที่น้ำมันจะสูงสุดในปี 2575 หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า และจะทยอยลดการใช้ลง ส่วนก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงในยุคเปลี่ยนผ่าน เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุด และคาดว่าจะยังมีการใช้ต่อเนื่องไปจนถึง 2583 แต่ในที่สุด โลกจะเปลี่ยนไปสู่พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด ภายใต้หลัก Go Green และ Go electric
"จากปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างรวดเร็ว รวมทั้งวิกฤตราคาน้ำมัน ซึ่งราคาพลังงงานเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และบางช่วงมีการขาดแคลน ส่งผลให้ ปตท.มีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว"
โดยแนวคิด การปรับเปลี่ยนธุรกิจ ไปสู่ Future Energy and Beyond ของปตท.จะประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่
1 คือ การไปสู่พลังงานอนาคต พลังงานสะอาด เห็นได้การเดินหน้าไปสู่รถยนต์ไฟฟฟ้า รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ดังนั้น แม้ว่าวันนี้ยังอยู่ที่เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ที่ผ่านมา ได้เข้าไปในธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานงานลมและแสงอาทิตย์ การเดินหน้าผลิตรถไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง รวมทั้ง การเป็นแพลตฟอร์มที่ปรึกษาที่จะช่วยให้ภาคอุตสากรรมเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น
ส่วนอีก 5 ด้านจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนไทย และคนทั่วโลก รวมทั้งการสนับสนุนการเกิดของ S-curve 12 อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทย โดยแบ่งเป็น
1.Life Science เป็นการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ
2.Mobility and Lifestyle การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อให้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
3.High value business ต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี
4.Logistics and Infrastructure พัฒนาการขนส่งของประเทศ
5.AI, Robotics, and Digitalization ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงการผลิตจักรกลอัจริยะเพื่อส่งเสริมธุรกิจในเครือ
"ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนธุรกิจใหม่ในส่วนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ในส่วนนี้ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าลงทุนประมาณ 30% ของเงินลงทุนที่ได้ตั้งไว้ ในแผน 5 ปี (ปี 65-69) ของ ปตท. 146,000 ล้านบาท หรือเบื้องต้นประมาณ 50,000 ล้านบาท และตั้งเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 75 จะมีรายได้จากส่วนของธุรกิจใหม่นี้ 30% ของผลประกอบการทั้งหมด
นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดีขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในปีนี้ 2.7-3.2% ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวประมาณ 1.5% นั้น ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจของปตท.
โดยในครึ่งปีแรก ปตท.มีกำไร 64,419 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกธุรกิจ สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่ง ปตท.มีกำไร 57,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเทียบกำไรกับยอดขายโดยรวมของ ปตท.จะอยู่ที่ 4% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ซึ่งกำไรต่อยอดขายจะอยู่ที่ประมาณ 10%
อย่างไรก็ดี กำไรที่ ปตท.มีนั้น จะแบ่งเป็นการนำส่งเข้ารัฐใน 2 ทางคือผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินปันผลส่วนที่รัฐบาลถือหุ้นรวมกัน 68% นอกจากนั้น จะนำไปใช้หนี้และใช้ในการลงทุนต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ ปตท.มีหนี้สินอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจจะมองว่าสูง แต่พิจารณาแล้วยังอยู่ในภาวะที่เหมาะสมและสามารถที่จะชำระได้ และท้ายที่สุด คือ การนำกำไรเพื่อใช้ในการตอบแทนสังคม
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.ได้พยายามดูแลราคามาตลอด โดยจะเห็นว่าราคาของปตท.กับเจ้าอื่นแตกต่างกันอยู่ และได้สนับสนุนเงินให้กองทุนน้ำมัน 3,000 ล้านบาทเพื่อให้ทำหน้าที่ได้ต่อเนื่อง
รวมทั้งการดูแลราคาเชื้อเพลิงสำหรับแท็กซี่ หาบเร่ แผงลอย ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม แต่ในส่วนที่มีการเสนอจะให้ปตท.นำเงินกำไรทั้งหมดมาลดราคาน้ำมันทั้งหมดนั้น ในส่วนของกำไรไม่มีก็คงได้ เงินปันผลไม่มีก็ได้ แต่ปตท.ยังจำเป็นต้องใช้หนี้ีที่ที่อยู่ ไม่อย่างนั้นธุรกิจคงไปต่อไม่ได้