นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผย ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 2/2565 ว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจทุกภูมิภาคปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวแตกต่างกัน ภาคการเกษตรฟื้นตัวได้ดีกว่า โดยเฉพาะรายได้เกษตรในภาคใต้ ส่วนการบริโภคและการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวภาคเหนือฟื้นตัวได้ดี เนื่องจากพึ่งพิงนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 2/2565 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มมีความมั่นใจ เดินทางเข้ามาภาคเหนือมากขึ้น สะท้อนจากการเดินทางทางอากาศ และทางรถยนต์ผ่านเส้นทางหลักที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางบินตรงจากต่างประเทศมายังภาคเหนือ ทำให้อัตราเข้าพักดีขึ้นต่อเนื่อง
การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การใช้จ่ายในหมวดบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามภาคการท่องเที่ยว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้า ส่วนหมวดยานยนต์ชะลอลงเล็กน้อย หลังเร่งส่งมอบในช่วงก่อนหน้า และมีปัญหาขาดแคลนรถส่งมอบในบางรุ่น
รายได้ภาคเกษตรขยายตัวมากขึ้น ตามผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นในกลุ่มข้าวนาปรัง ลำไย มันสำปะหลัง และลิ้นจี่ เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาปรับดีขึ้นจากราคาข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ ตามวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโต แม้ชะลอลงบ้างตามการผลิต หมวดอาหาร โดยเฉพาะการผลิตนํ้าตาล หลังผลผลิตเข้าโรงงานมากในไตรมาสก่อน ขณะที่การผลิตหมวดเครื่องดื่มลดลง หลังเร่งผลิตในช่วงต้นปีประกอบกับผลผลิตหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์หดตัว จากมาตรการ Lockdown ของจีน รวมถึงปัญหาการขาดแคลน และการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ตามการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการผลิต การลงทุนซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการลงทุน เพื่อการก่อสร้างตามสัญญาณการขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัว จากรายจ่ายลง ทุนโครงการก่อสร้างระบบถนน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวชะลอลงหลังเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้น ตามจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของแรงงาน นอกภาคเกษตร ประกอบกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมกลับสู่ ระดับก่อน COVID-19
ผอ.อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศ ไทย สำนักงานภาคเหนือ เผยอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือ ระยะต่อไป ในไตรมาส 3/2565 คาดว่าปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะประชาชนปรับตัวอยู่กับโควิด-19 ได้ดี ซึ่งจะสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรายได้เกษตรยังขยายตัว ตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจะช่วยพยุงการบริโภค แม้มีปัจจัยกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวได้ จากในช่วงปี 2563 ติดลบไป 6.2% ปี 2564 กลับมาขยายตัว 1.5% และในปี 2565 คิดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.3% ซึ่งยังไม่กลับไปเท่าก่อนโควิด และคาดหวังว่าในปี 2566 จะขยายตัวดีได้ต่อเนื่อง โดยจะมีเสถียรภาพมากขี้นควบคู่ไปด้วย
การบริโภคโดยทั่วไปแล้วปรับดีขึ้น เป็นผลจากการท่องเที่ยวเป็นหลักจากที่อั้นมา คนที่มีรายได้ประจำ ที่ไม่ได้อยู่กับการท่องเที่ยว พนักงานบริษัทต่างๆ ที่ไม่ถูกให้ออกจากงานจะมีเงินเก็บเยอะและอั้นเรื่องการท่องเที่ยวมานาน ถึงแม้จะมีเงินเฟ้อเข้ามาแต่ก็ยังมีกำลังที่จะออกไปท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวปรับฟื้นขึ้นมา ในขณะที่การบริโภคปกติไม่ดีนัก ฟื้นตัวแต่ไม่ได้ฟื้นตัวแรง
ส่วนหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นกลุ่มที่มีปัญหาด้านกำลังการผลิต ไม่มีรถส่งมอบ เพราะว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาไม่ได้ตามที่ต้องการ ทำให้การซื้อรถส่วนบุคคลยังตํ่า ขณะที่รถจักรยานยนต์ รถยนต์เพื่อการขนส่งการพาณิชย์หรือใช้ในภาคเกษตร พวกนี้ไปได้
“ฉะนั้นในภาพรวมจริงๆ แล้ว การบริโภคก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร และยังไม่ได้กลับมาเท่ากับช่วงโควิด-19 โดยยังมีช่วงห่างพอสมควร”
ทั้งนี้ ภาพการฟื้นตัวจะเป็นแบบ K-Shape คือ มีบางส่วนที่ปรับตัวได้ดี หรือไม่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ยังเติบโตได้ เช่น โลจิสติกส์ ค้าปลีก ออนไลน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่บางส่วนได้รับผลกระทบ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
หรือเทียบเชิงพื้นที่เศรษฐกิจ ภูมิภาคก็มีการฟื้นตัวต่างกัน โดยการฟื้นตัวทั้งในเชิงของสาขาเศรษฐกิจ และในเชิงพื้นที่ภาพรวมมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในทุกภาค แต่การฟื้นตัวยังแตกต่างกัน โดยภาคการเกษตรฟื้นตัวได้ดีกว่า โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรในภาคใต้ ส่วนการบริโภคและการท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ตํ่ากว่าก่อนโควิด-19 หากมองในเชิงพื้นที่ การ ฟื้นตัวของภาคใต้ยังช้ากว่าภาคเหนือและภาคอีสาน ตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่า จากที่ภาคใต้พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่ภาคเหนือและอีสานเป็นตลาดนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเมื่อมองไปข้างหน้ายังคิดว่าดีขึ้น โดยเฉพาะในหมวดการบริการ เพราะในช่วงไตรมาส 4 ภาคเหนือจะเข้าช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว จะมีดีมานด์เข้ามาจอง โรงแรม เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม ขณะที่หมวดยานยนต์ขึ้นอยู่กับว่ามีชิ้นส่วนชิปมีรถส่งมอบลูกค้าหรือไม่ ขณะที่การอุปโภคบริโภคก็มีตัวช่วยจากโครงการคนละครึ่งที่ออกมา จะช่วยพยุงกำลังซื้อของผู้บริโภค
นภาพร ขัติยะ/รายงาน
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,809 วันที่ 14-17 สิงหาคม พ.ศ.2565