thansettakij
หวั่นยอดเคลม 4 บริษัทประกันล้ม ทะลุ 7 หมื่นล้าน

หวั่นยอดเคลม 4 บริษัทประกันล้ม ทะลุ 7 หมื่นล้าน

21 ก.ย. 2565 | 12:17 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 19:18 น.

สมาคมประกันหวั่น จ่ายเคลมลูกค้า 4 บริษัทประกันโควิด-19 ล่าช้า กระทบเชื่อมั่นธุรกิจ ช่วยเหลือกองทุนประกันวินาศภัยเร่งจ่ายเร็วขึ้น ระบุไม่ควรเกิน 3 ปี แถมวงเงินช่วยเหลืออาจทะลุ 7 หมื่นล้านบาท แม้จะเพิ่มเงินสมทบเต็มเพดาน 0.5% ยังไม่พอ แนะยกระดับปัญหาให้รัฐช่วยเหลือ

ความท้ายทายของธุรกิจประกันวินาศภัยยังไม่จบ หลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยอยู่ระหว่างหาเงินแหล่งเงินมาเคลียร์หนี้ให้กับประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เกือบ 7 แสนคนที่ได้รับผลพวงจากการปิดกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่ง ยังต้องเผชิญกับกฎระเบียบทางการหรือมาตรฐานสากล รวมถึงพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่จะมาพร้อมกับความทันสมัยและความเสี่ยงอุบัติใหม่ จึงเป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจต้องบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอย

 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA)เปิดเผยว่า สมาคมฯพยายามจะช่วยกองทุนประกันวินาศภัยในการจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้เร็วขึ้น จากปัจจุบันที่ศักยภาพการตรวจเอสารการเคลมสินไหมเฉลี่ยเดือนละ 500 เคลมเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เพราะถ้าจ่ายเงินคืนให้ลูกค้าช้า ความเสียหายจะตกอยู่กับภาคธุรกิจ จากความน่าเชื่อถือจะหายไป

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

ทั้งนี้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดราว 16 ล้านคน โดยกว่าครึ่งหรือ 8 ล้านคนอาจจะเข็ดกับการอเคลมสินไหม ขณะที่ลูกค้าอีก 8 ล้านคนอาจจะพอใจที่ได้รับเคลมไปแล้วก็จะเป็นลูกค้ากันต่อไป ซึ่งลูกค้าประกันโควิดราว 16 ล้านคนนั้น น่าจะเป็นลูกค้าเก่าประมาณ  6 ล้านคนอีก 10 ล้านคนเป็นลูกค้าใหม่ ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งที่ต้องเสียลูกค้าไปและต้องค่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นไม่ให้คนกลัวประกันภัย

หวั่นยอดเคลม 4 บริษัทประกันล้ม ทะลุ 7 หมื่นล้าน

ขณะที่ยอดเคลมสินไหมประกันโควิด-19 ขณะนี้น่าจะเกือบ 7 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่นับรายที่โคม่าอีกราว 3 หมื่นล้านบาท แต่กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท แม้จะมีการปรับเพดานนำส่งเงินสมทบจากภาคธุรกิจเต็มเพดานที่ 0.50% ต่อปีจากปัจจุบัน 0.25% แต่เม็ดเงินก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อการจ่ายเคลมสินไหม

“เท่าที่ทราบสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะดูว่า การกู้เงินของกองทุนฯ ต้องสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุนฯ เพราะตรงนี้จะเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งถามผมอย่างช้าสุดที่จะให้คนคอยไม่ควรจะเกิน 3 ปีคือต้องใช้เงิน 7 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้กองทุนฯมีเงินอยู่แล้ว 6,000 ล้านบาทอีก 3 ปีเก็บได้อีก 4,000 ล้านบาทเท่ากับ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะจ่ายของเก่าไป 3,000 ล้านบาทจะเหลือเพียง 7,000 ล้านบาท ต้องกู้เงินมาอีกราว 60,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องยกระดับปัญหาให้รัฐบาลเข้ามาช่วย”นายอานนท์กล่าว

 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยนายอานนท์กล่าวว่า  เมื่อต้นปี 2565 คาดการณ์ว่าธุรกิจจะเติบโต 3%ต่อปี บนสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ที่ 2.5-2.8% แต่เมื่อปรับประมาณการจีดีพีเติบโตเป็น 3% จึงคาดว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะเติบโตเพิ่มเป็น 3.5-4.5%ต่อปีและปีหน้าจะโตที่ 4.5-5.5%ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนในครึ่งหลังปี 2565 คือ แนวโน้มยอดขายและเร่งส่งมอบรถยนต์ จากที่ค้างส่งมอบในครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา เพราะขาดปัจจัยในการผลิต ประกอบกับภาคท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันภัยรถยนต์คงไม่ปรับขึ้น เพราะ Loss ลดลง แต่เบี้ยประกันภัยต่อที่ไม่ใช่รถยนต์มีโอกาสปรับขึ้น 10%ในตลาดโลก ซึ่งเมืองไทยอาจไม่กระทบโดยตรง ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพต้องดูว่า จะหาซื้อยากขึ้นหรือไม่ หากบริษัทขายน้อยลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใหม่ราคาต้องสมเหตุสมผลกับความเสี่ยง ส่งผลให้หลายบริษัทไม่กล้าขายกรมธรรม์

 

“สำหรับน้ำท่วมปีนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะยังไม่เห็นน้ำท่วมโรงงานใหญ่หรือนิคมอุตสาหกรรม สิ่งที่ผมกลัวและเตือนลูกค้ามากคือ เครื่องสูบน้ำสามารถสูบน้ำออกได้ทันทีหรือไม่เมื่อเกินน้ำเหนือ ส่วนปีหน้าภาคสมาคมฯจะเน้นเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจในกรมธรรม์แต่ละประเภทเพื่อสานต่อความยั่งยืนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย” นายอานนท์ กล่าว

 

ด้านนายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวเสริมว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปี 2565 กำไรจากการประกันภัยติดลบกว่า 55,663 ล้านบาทหรือกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของแต่ละบริษัทติดลบ 51,987 ล้านบาท กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเงินได้ก็ติดลบ 45,566 ล้านบาท แม้กระทั่งการลงทุนในหุ้นก็ขาดทุนทั้ง 2 ไตรมาสของปีนี้ ซึ่งสะท้อนธุรกิจประกันภัยอาการน่าเป็นห่วงพอสมควรในปีนี้

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย

“ตอนนี้เราก็หารือภาคธุรกิจอีก 2-3 ประเทศที่ขายกรมธรรม์ประกันโควิดคล้ายกับไทยเช่น อินเดีย ไต้หวัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกันแต่ในแง่บทบาทของผู้กำกับไต้หวันมีการแตะเบรกให้หยุดขาย ส่วนแนวโน้มปีหน้า แม้คาดการณ์อัตราเติบโตของธุรกิจประกันไว้ 4.5-5.5% แต่ขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะปีหน้าถ้าเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องติดตามนโยบายที่เปลี่ยนไปด้วย” นายกี่เดช กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,820 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2565