เปิดไทม์ไลน์ “สินมั่นคง” เรียกเชื่อมั่น ประมาณการกรอบเวลากรณีฟื้นฟูกิจการ

23 พ.ค. 2565 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2565 | 19:40 น.

“สินมั่นคง SMK” ประมาณการกรอบเวลากรณีฟื้นฟูกิจการ เตรียมเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด หวังคุ้มครองประโยชน์โดยรวมของเจ้าหนี้เพื่อความเป็นธรรม

ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMKได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลฯ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ จึงได้กำหนดกรอบระยะเวลาประมาณการเพื่อฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น และขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสินไหมโควิด และสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ขั้นตอนกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย  มีขั้นตอนโดยคร่าว ดังนี้

•        วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ลูกหนี้ (กล่าวคือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัยฯ) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล ภายหลังจากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสำนักงาน คปภ.

  • วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา

ทั้งนี้ ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 9:00 น. และจะได้ประกาศวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์ กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ ก่อนวันนัดไต่สวน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้พิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้

 

ภายหลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้อยู่ในสภาวะบังคับชั่วคราว หรือ สภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) ซึ่งเป็นมาตรการในการคุ้มครองกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และคุ้มครองประโยชน์โดยรวมของเจ้าหนี้ทั้งหลายและเพื่อความเป็นธรรม ตามมาตรา 90/12 แห่งพ.ร.บ. ล้มละลายฯ

เช่น ห้ามเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งหรือบังคับทรัพย์สินของลูกหนี้ ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย ห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ และห้ามมิให้ลูกหนี้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ เป็นต้น

  • ศาลไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และคำคัดค้านของเจ้าหนี้ (หากมี) และพิจารณามีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

หากไม่มีการคัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอและศาลเห็นสมควรให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้น (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล) จะตกแก่ผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล

  • เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะประกาศคำสั่งศาลล้มละลายในหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษา เจ้าหนี้ในหนี้เงินซึ่งมีหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนดังกล่าว

กระบวนการสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ จะดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้เป็นประการใด เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในสำนวนหนี้ อาจอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยังศาลได้

 

  • ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อยื่นส่งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใน 3 เดือนหลังจากการโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา

•เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ และรายงานผลการประชุมต่อศาล

•ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยในกรณีที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบด้วยแผน ศาลจะพิจารณาว่าแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือไม่ และหากเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

ในกรณีที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศคำสั่งศาลเห็นชอบด้วยแผนในราชกิจจานุเบกษา แผนที่ได้รับความเห็นชอบนี้จะมีผลผูกพันเจ้าหนี้ทุกราย ตามมาตรา 90/60 และบรรดาสิทธิและอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมถึงหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะตกแก่ผู้บริหารแผนซึ่งได้แก่บุคคลที่แผนฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้เห็นชอบนั้นกำหนดไว้ ตามมาตรา 90/59

  • ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน

ผู้บริหารแผนมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามแผน รวมถึงการดำเนินธุรกิจ การจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และรายงานการปฏิบัติตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทุก ๆ3 เดือน โดยระยะเวลาการดำเนินการตามแผนต้องไม่เกิน 5 ปี

  • เมื่อการฟื้นฟูกิจการสำเร็จลุล่วงตามแผน ศาลจะพิจารณามีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

ในการนี้ ลูกหนี้จะกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้ตามเดิม ทั้งนี้ การดำเนินการฟื้นฟูกิจการสำเร็จ เป็นไปตามเงื่อนไขความสำเร็จของแผน ที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ