"กนอ." นำร่องพื้นที่สมาร์ทปาร์คปลูกป่าต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

17 ส.ค. 2565 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 10:31 น.

"กนอ." นำร่องพื้นที่สมาร์ทปาร์คปลูกป่าต้นแบบสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้คอนเซ็ปต์ Let’s Zero together ปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและคืนอากาศบริสุทธิ์สู่ชุมชน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมปลูกป่าต้นแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Let’s Zero together ปลูก เพื่อ ลด สู่อนาคตที่ยั่งยืน 

 

ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เท่ากับศูนย์ ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นับเป็นก้าวสำคัญสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ Net Zero Emission ตามที่ กนอ. ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้

และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กิจกรรมปลูกป่าต้นแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

กนอ. จึงน้อมนำพระราชดำรัสที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” มาเป็นแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดรับกับห้วงเวลามหามงคล วันแม่แห่งชาติ โดยปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 300 ต้น และต้นประดู่ป่า จำนวน 500 ต้น 

 

กนอ.นำร่องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คปลูกป่าต้นแบบ

 

ซึ่งคิดเป็นศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 20,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ โดย กนอ. จะผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคส่วนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับกิจกรรมปลูกป่าต้นแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คในครั้งนี้ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ที่ว่า กนอ. รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และชุมชน พร้อมที่จะเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แล้ว เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม 

 

ที่สำคัญการปลูกป่านี้ ยังเป็นการเตรียมพื้นที่เพื่อเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับ กนอ. ในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย และถ้าหากเรามีมากเกินพอ ก็อาจจะเทรดขายให้กับโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการได้