ในงานสัมมนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity จัดโดยฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ ช่วงเสวนา : EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวใจความสำคัญว่า
อุตสาหกรรมรถยนต์มีความพิเศษต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งในการผลักดันแต่ละเรื่องต้องใช้เครื่องมือของหลายหน่วยงาน ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ของบีโอไอต้องจูงใจและให้อย่างเพียงพอ ที่ผ่านมีการผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนตั้งแต่รถปิกอัพมาจนถึงรถอีโคคาร์ หรือรถจักรยานยนต์บิ๊กไบร์ค ได้ร่วมทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน โดยได้หารือและออกมาตรการเป็นแพ็กเกจร่วมกัน
ที่ผ่านมาไทยค่อนข้างประสบผลสำเร็จในการสร้างฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจุบันไทยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 10 รายที่เข้ามาตั้งฐานผลิต ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ผลิตรถ แต่บีโอไอยังให้การส่งเสริมไปถึงซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วน อุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ รวมกว่า 3,000 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไทย ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และช่วยให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก
“อย่างไรก็ดีเมื่อมาถึงจุดเปลี่ยนจากสถานการณ์ตลาดและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยไทยกำลังจะก้าวผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นความท้าทายมาก ที่ไทยจะต้องรักษาความเป็นแชมป์ให้ได้ จากปัจจุบันไทยเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นเบอร์ 10 โลกในฐานะที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์ ซึ่งเป็นความท้าทายว่าในเรื่องของรถอีวีเราจะยังรักษาแชมป์ให้ได้ และใช้อีวีเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศด้วย และนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ เหมือนที่รองนายกฯ(สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์)พูดว่า เรามีโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากจากเรื่องอีวี”
สำหรับบีโอไอได้ออกนโยบายส่งเสริม EV ตั้งแต่ปี 2560 เรียกว่า EV 1และมีการปรับนโยบายอีกครั้งเป็น EV2 เมื่อปี 2564 และนำสู่ EV 3 ที่กำลังออกมาเพื่อกระตุ้นดีมานด์ ซึ่งมาตรการบีโอไอไม่ได้มีแค่ส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์อย่างเดียว แต่มีครบทั้ง Ecosystem นอกจากเรื่องยานยนต์แล้วยังมีเรื่องชิ้นสวน EV มีเรื่องของสถานีชาร์จ รวมถึงซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ใช้ในเรื่องของอีวีด้วย
ในส่วนของรถยนต์อีวี นอกเหนือจากด้านการผลิตแล้ว เราก็ยังมีเป้าหมายว่าอยากจะดึงบริษัทรถยนต์มาศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย และลงทุนใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเพื่อกำกับดูแลบริษัทในเครือในภูมิภาคด้วย
ในเรื่องมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า บีโอไอส่งเสริมครบวงจรทั้งรถยนต์ 4 ล้อ 3 ล้อ และ 2 ล้อ(รถจักรยานยนต์) รถจักรยาน รถโดยสาร รถบรรทุก และเรือไฟฟ้าด้วย โดยสิทธิประโยชน์ที่ให้เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และถ้าสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญภายในตัวรถได้ก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นไปอีก
นอกเหนือจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ปลายปีที่ผ่านมา บีโอไอยังได้ปรับนโยบายเพื่อให้การส่งเสริม BEV Platform สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (4 ล้อ, 3 ล้อ, รถโดยสารและรถบรรทุก) โดย Platform อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) 2) Charging Module 3)เพลาหน้า เพลาหลัง(Front & Rear Axle Module) โดยบริษัทผู้ผลิต Platform ก็จะขายไปให้บริษัทลูกค้าเพื่อนำไปประกอบเป็นตัวรถ
มาตรการที่ 2 การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วน EV โดยได้ร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางภาควิชาการ และสถาบันยานยนต์ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี + สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากมาตรการพิเศษต่าง ๆ สำหรับชิ้นส่วน EV 17 ชิ้น
มาตรการส่งเสริม Charging Station มีกฎเงื่อนไขการส่งเสริมว่า จะต้องเสนอแผนให้เห็นว่าจะพัฒนาไปสู่ระบบ Smart Charging อย่างไร รวมทั้งการเชื่อมเข้ากับแพลตฟอร์มที่จะบริหารจัดการเครือข่ายระบบ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์และชิ้นส่วน โดยสิทธิประโยชน์แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีมีไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย โดยเป็น Quick Charge ไม่น้อยกว่า 25% (ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี) และกรณีอื่นๆ (ยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี)
และมาตรการสุดท้ายคือการส่งเสริม Software ที่เกี่ยวข้องกับ EV ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ควบคุมการทำงานของระบบในรถยนต์ EV หรือ Platform ควบคุมและบริหารจัดการการเดินรถ (Fleet Management) ,Application ค้นหา จอง และชำระค่าบริการ/บริหาร จัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า, AI วิเคราะห์และประมวลผลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EV ซึ่งจะเห็นว่าเรามีการส่งเสริมเรื่องอีวีครบวงจรในส่วนของ Ecosystem ทั้งหมด
สำหรับผลของการส่งเสริมของบีโอไอ ปัจจุบันในส่วนของตัวรถยนต์ BEV อนุมัติส่งเสริมไปแล้ว 16 โครงการ เงินลงทุน 3 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเป็นกำลังผลิตกว่า 250,000 คัน รายล่าสุดที่เพิ่งอนุมัติไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มิ.ย.65) คือ ฮอริษอน พลัส ในเครือ ปตท.
ทั้งนี้ปัจจุบันมีโครงการที่เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 3 ราย ซึ่งต้องกระตุ้นและสนับสนุนให้โครงการที่ได้รับส่งเสริมไปแล้วมีการผลิตรถไฟฟ้าได้เกิดขึ้นเร็วที่สุด พร้อมกันนี้อยากเชิญผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ให้เข้ามาตั้งฐานในไทยเพิ่มขึ้น ส่วนการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV มี 33 โครงการ เงินลงทุน 15,300 ล้านบาท ในจำนวนนี้ที่สำคัญคือชิ้นส่วนแบตเตอรี่ มี 20 โครงการ ซึ่งบีโอไอมีเป้าหมายที่จะดึงบริษัทผลิตแบตเตอรี่ต้นน้ำเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี
ส่วนการส่งเสริมกิจการ Charging Station ปัจจุบันส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย มีหัวจ่ายทั้งหมดกว่า 6,500 หัวจ่าย ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็น QUICK CHARGE
“จะเห็นว่าไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีมาตรการสนับสนุนอีวีแบบครบวงจร ทั้งบีโอไอที่ส่งเสริมผู้ผลิตในฝั่งซัพพลาย และมาตรการของกระทรวงการคลังที่กระตุ้นให้เกิดตลาด และดีมานด์ในประเทศ รวมทั้ง ครม.มีมติว่าอยากจะผลักดันให้รถส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็นรถอีวีมากขึ้น มาตรการทั้งหมดค่อนข้างจูงใจให้ผู้ผลิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้เข้ามาผลิตอีวีมากขึ้น เป็นความท้าทายมาก ซึ่งมาตรการของบีโอไอปรับตลอดเวลาตามสถานการณ์ ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
ล่าสุด บีโอไอกำลังศึกษาใน 3 เรื่อง เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายและสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมในอนาคต เรื่องแรกคือ แบตเตอรี่รถอีวี ที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น เรื่องที่สองคือ Charging เดิมเป็น Charging ที่เป็นลักษณะของปั๊มน้ำมัน จะได้ปรับนโยบายให้เหมาะกับการติดตั้งหัวชาร์จตามออฟฟิศบิวดิ้ง(อาคารสำนักงาน) ตามคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า รวมถึงในอีกหลายรูปแบบ และเรื่องที่สาม ที่กำลังทำร่วมกับกระทรวงการคลังคือ การพิจารณาลดอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของอีวี เพื่อลดต้นวัตถุดิบให้เหมาะสมมากขึ้น