เช็กตำแหน่งงาน 1,000 คนมีสาขาอะไรบ้าง เงื่อนไขยังไงให้ได้งาน อ่านเลย

18 ส.ค. 2565 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 16:24 น.

เช็กตำแหน่งงาน 1,000 คนมีสาขาอะไรบ้าง เงื่อนไขยังไงให้ได้งาน อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ ส.อ.ท.ผนึกดีป้าพร้อมกับเครือข่ายพันธมิตรด้านการพัฒนากำลังคนระดับประเทศจัดโครงการรัฐร่วมเอกชนสร้างทักษะดิจิทัลใหม่ เรียนจบไม่ตกงาน

นายไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมกับเครือข่ายพันธมิตรด้านการพัฒนากำลังคนระดับประเทศ จัดเสวนาในหัวข้อ “Technology, Skills, and the New Trend of Work” ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนสร้างทักษะดิจิทัลใหม่ เรียนจบไม่ตกงาน

 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ในฐานะศูนย์รวมของภาคส่วนผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2562 ได้มีการสำรวจข้อมูลความพร้อมและความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 201 องค์กร พบว่า ส่วนใหญ่มีบุคลากรด้านไอทีในองค์กรเฉลี่ยอยู่ที่ 1-5 คน สัดส่วนถึง 61% ถือเป็นองค์กรขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ และกว่า 64% คิดว่าองค์กรตนเองมีบุคลากรด้านไอทีไม่เพียงพอ 

โดยมีรูปแบบของการบริหารจัดการที่หลากหลายผสมผสาน ทั้งการจัดจ้างแบบ Outsource Service การพัฒนาทักษะแก่พนักงานที่มีอยู่เดิม (Upskill/Reskill) และการรับพนักงานใหม่ 

 

ส่วนตำแหน่งงานที่ความต้องการสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ งานบริหารด้านไอที (IT Management), งานนักเขียนโปรแกรม (Programmer)ม งานผู้ดูแลระบบและเครือข่าย (Network Admin Jobs), งานด้านพัฒนาและดูแลระบบ CRM / ERP และงานเว็บไซต์ (Website) ตามลำดับ

 

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ดีป้าได้เล็งเห็นถึงสถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลในปัจจุบัน จึงได้มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับทักษะสำหรับนักศึกษาใกล้จบหรือจบแล้ว ไม่เกิน 2 ปี และยังไม่มีงานทำ ในสาขาขาดแคลน จำนวน 5 สาขา ได้แก่ 

AI IoT ML Cloud Computing และ Digital Marketing รวมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน 

 

โดยเมื่อผ่านการยกระดับทักษะแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้พบกับผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากรในสาขาดังกล่าว ผ่านกิจกรรม Job Fair การันตีให้เกิดการจ้างงานจริงในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งดีป้าได้ส่งเสริมการจ้างงานผ่านการสนับสนุนเงินเดือนไม่เกิน 50% ให้แก่ภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงาน 

 

ทั้งในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล (IT) และสาขาทั่วไป (Non-IT) ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีทุนสนับสนุนทั้งสิ้นกว่า 120 ทุน


สำหรับโครงการส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางานสาขา Non-IT ดำเนินการโดย สถาบัน ICTI สภาอุตสาหกรรมฯ มีเป้าหมายในการสนับสนุนค่าจ้างเงินเดือนไม่เกิน 50% สูงสุด 6,500 บาทต่อเดือน สนับสนุนระยะเวลา 1 ปี ให้แก่นายจ้างที่ต้องการจ้างงาน นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายหรือจบใหม่ไม่เกิน 2 ปี ในสาขาทั่วไป (NON-IT) ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 100 ทุน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2565 หรือจนกว่าทุนจะครบเป้าหมาย