นางสาวธารินี จันทร์คง นักกำหนดอาหารวิชาชีพ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดของ Food Waste Index 2024 ของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยรายงานว่าคนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยถึง 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นประมาณวันละ 240 กรัม มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศลดปริมาณขยะอาหารลง 50% ภายในปี 2573
โดยในห่วงโซ่อาหารทั้งหมด ผู้บริโภคคือผู้สร้างขยะอาหารมากที่สุด ขยะอาหารของประชากรโลกเกิดจากทั้งในครัวเรือและการกินอาหารนอกบ้าน และพฤติกรรมที่พบบ่อยคือ การกินอาหารไม่หมดจาน ตักอาหารหรือสั่งอาหารมากเกินไปตอนหิว และการเตรียมอาหารเกินพอดีเวลามีแขกหรืองานเลี้ยง นอกจากนี้ การซื้อวัตถุดิบมากักตุนโดยไม่วางแผนให้ดี ก็ทำให้อาหารเน่าเสียและกลายเป็นขยะในที่สุด
สำหรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสมไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังช่วยลดการทิ้งอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยสารอาหารหลักที่จำเป็นคืออาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ส่วนสารอาหารรอง ได้แก่ วิตามินและเกลือแร่ มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ และแต่ละช่วงวัยของคนเรามีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน
นางสาวธารินี กล่าวว่า การเลือกกินอย่างเหมาะสมและพอดีเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดขยะอาหารได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนการเลือกซื้ออาหารและดูวันหมดอายุก่อนซื้อ ไม่ตุนอาหารมากเกินจำเป็น หากเราซื้อวัตถุดิบมากักตุนไว้นานและมากเกินไปจนกินไม่ทัน สุดท้ายวัตถุดิบเหล่านั้นก็หมดอายุและต้องทิ้งจนกลายเป็นขยะอาหาร และควรกินอาหารให้หมดจาน
ทั้งนี้ ควรเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหาร อย่าตักมามากเกินไป หรือสั่งอาหารเกินที่จะกินไหว นอกจากนี้ การกินอย่างยั่งยืน (Sustainable Food) ก็ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง เช่น เปลี่ยนมาทานอาหารที่เน้นพืชหรือ Plant-based ประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปมีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูง ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงสัตว์
"แม้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจดูเหมือนยาก แต่เราสามารถเริ่มจากสิ่งง่าย ๆ เช่น กินให้หมดจาน ซื้ออาหารแต่พอดี และเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย" นางสาวธารินี จันทร์คง กล่าว และเสริมว่า “1 ใน 3 ของอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันถูกทิ้งเสียไปโดยไม่จำเป็น หากทุกคนร่วมกันตระหนักในเรื่องนี้และหันมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เราก็จะได้มีสุขภาพที่ดีและช่วยโลกลดขยะไปในตัวด้วย"