รองศาสตราจารย์ ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยจะนำผลการศึกษามาประกอบการพิจารณาในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
ซึ่งกรอบความร่วมมือที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะทำร่วมกันในอนาคต ได้แก่ การศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรมพลังงาน ด้านการพัฒนาระบบดิจิทัล และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้า และครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder)
ขณะเดียวกัน กนอ. และ SIIT จะร่วมกันจัดให้มีการประชุม เพื่อนำเสนอความคืบหน้าของการศึกษาโครงการ ประสานงาน ติดตามข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่วมกันขจัดปัญหาและอุปสรรคที่กระทบต่อการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง บรรลุผลเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาหรือลงทุนตามผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่อาจมีขึ้นในอนาคต
ความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับองค์กร ตามแผนการดำเนินงานปี 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายในการยกระดับการบริหาร พัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม
ซึ่งหากผลการศึกษาและนวัตกรรมใดมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ทั้ง 2 หน่วยงานจะนำผลการศึกษาและนวัตกรรมดังกล่าวมาพิจารณาและหารือถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตต่อไป
“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน โดยเป็นการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open innovation) มุ่งเน้นให้ กนอ. ก้าวสู่ความเป็นองค์กรชั้นนำ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กนอ. ว่าด้วยการนำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองและสนับสนุนการให้บริการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในและต่างประเทศของ กนอ.”
ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า SIIT เห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ซึ่งปัจจุบันโจทย์ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ดังนั้น คงามร่วมมือระหว่าง กนอ. และ SIIT จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ และเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อการวิจัยและพัฒนา การจัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ และการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ คณาจารย์และนักศึกษาของ SIIT ตลอดจนบุคลากรของ กนอ.