อั้นไม่อยู่! ผู้ผลิตเหล็กจ่อปรับราคาขึ้น หลังแบกต้นทุนค่าไฟสูงเกือบ 50%

19 ก.ย. 2565 | 04:01 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2565 | 11:01 น.

อั้นไม่อยู่! ผู้ผลิตเหล็กจ่อปรับราคาขึ้น หลังแบกต้นทุนค่าไฟสูงเกือบ 50% ระบุที่ผ่านมาประเทศไทยราคาสินค้าถูกกว่าต่างประเทศ แนะผู้รับเหมาทำสัญญาระยะยาว

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง ราคาวัตถุดิบ พลังงาน โดยเฉเพาะค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมทั้งได้รับผลจากการทุ่มตลาดของสินค้านำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 30 %  เป็นเหตุให้ผู้ผลิตเหล็กจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ 

 

อย่างไรก็ตามสินค้าเหล็กในการก่อสร้าง  ได้แก่ สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต  เหล็กรูปพรรณ  เป็นสินค้าภายใต้การกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน  กระทรวงพาณิชย์  ดังนั้นผู้บริโภคสามารถมั่นใจในระดับหนึ่งว่าการปรับราคานั้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง  

ทั้งนี้ ราคาเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 658 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้น 42%  จากปี 2564 ที่มีราคาอยู่ที่ 464 เหรียญสหรัฐต่อตัน ประกอบกับค่าไฟฟ้า ซึ่งพลังงานหลักในการหลอมเศษเหล็กได้ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 700-800 บาทต่อตัน  

 

โดยต้นทุนด้านพลังงานนั้นส่งผลกระทบทั่วทุกธุรกิจ แม้กระทั้งผู้ผลิตเหล็กหลักของโลกอย่างประเทศตุรกี ก็ได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กแล้วตันละ  20-40 เหรียญสหรัฐ   รวมทั้งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น   

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาระดับราคาของสินค้าเหล็กเส้นฯ ในประเทศเทียบกับประเทศต่าง ๆ แล้วจะพบว่าสินค้าเหล็กเส้นฯของไทยมีราคาต่ำกว่าสินค้าของประเทศอื่นมาก ตัวอย่างเช่นในช่วงกลางปี 2564 ประเทศสิงคโปร์ ราคาเหล็กเส้นอยู่ที่  738 เหรียญสหรัฐต่อตัน ประเทศตรุกีมีราคาเหล็กเส้น 740 เหรียญสหรัฐต่อตัน 

และประเทศจีนมีราคาเหล็กเส้น 852 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ประเทศไทยเสนอขายที่  699  เหรียญสหรัฐต่อตัน และในยุคโควิดขณะที่ประเทศอื่นประสบปัญหาไม่สามารถนำเข้าสินค้า  สินค้าขาดแคลน  และมีราคาสูงเกินจริง  แต่ประเทศไทยยังมีผู้ผลิตภายใน คานอำนาจสินค้านำเข้าได้ จึงไม่ประสบกับปัญหาเหมือนกับประเทศต่างๆ

 

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า การปรับราคาเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างได้ โดยผู้รับเหมาสามารถทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิต  หรือยี่ปั้วในการซื้อสินค้าสำหรับงานนั้น ๆ รวมถึงพิจารณาถึงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

 

นอกจากนี้การเลือกซื้อและเลือกใช้เหล็กคุณภาพสูง  เช่น  การเลือกใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชั้นคุณภาพ SD50 แทนชั้นคุณภาพ SD40 ที่สามารถลดปริมาณการใช้เหล็ก  เป็นอีกทางเหลือหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของผู้รับเหมาฯ  ลดลง  โดยเหล็กชั้นคุณภาพ SD50 รับแรงได้ดีกว่า SD40  

 

หากใช้เหล็กทั้ง 2 ชนิดในโครงการเดียวกันการใช้ SD50 จะประหยัดการใช้ปริมาณเหล็กมากกว่า รวมถึงการใช้เหล็กตัดและดัดสำเร็จรูปที่สามารถลดการสูญเสียหางเหล็ก  และลดการใช้แรงงานในการตัดและดัด  อีกทั้งทำให้โครงการสามารถแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วขึ้น