กรมทางหลวงชนบท(ทช.) เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงเส้นทางสายหลักรองรับความแออัดของปริมาณจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล โดยวางแผน ก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ - ศาลายา ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,400 ล้านบาทเบื้องต้นงบประมาณเวนคืนอยู่ที่2,700 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 356 ไร่ประกอบด้วย ที่ดิน 778 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 341 รายการ และที่ผ่านมา(วันที่ 17 ธันวาคม 2564) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา จังหวัดนนทบุรี, นครปฐม เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกรมฯ ได้ดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนของบประมาณจ่ายค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินในปีงบประมาณ 2567-2568 โดยแบ่งเป็น 2 ปี เนื่องจากงบประมาณค่าเวนคืนที่ดินโครงการฯค่อนข้างมาก อีกทั้งที่ผ่านมากรมฯได้ของบประมาณฯในปี 2566 แต่ไม่ได้รับการจัดสรร เพราะกรมฯมีโครงการอื่นๆที่อยู่ระหว่างรอดำเนินการเวนคืนที่ดินเช่นกัน หากกรมฯได้รับการจัดสรรงบในปีงบประมาณ 2567 แล้ว หลังจากนั้นจะดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2568
ขณะเดียวกันหากกรมฯได้รับการจัดสรรงบในปี 2567 ทางกรมฯจะดำเนินการจ่ายค่าชดเชยค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินเพื่อทำสัญญาร่วมกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ และเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินภายในปี 2567-2568 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้างกว่า 2 ปี คาดว่าเปิดให้บริการปี 2570
“จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่โครงการฯในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประชาชนไม่ได้มีการคัดค้าน แต่ประชาชนต้องการทราบระยะเวลาการจ่ายชดเชยค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน เพื่อที่จะได้วางแผนได้ถูก”
ทั้งนี้รูปแบบการก่อสร้างเป็นงานก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 6 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร พร้อมไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร และทางเท้ากว้างข้างละ 4.00เมตร (มีเฉพาะเขตชุมชน) มีเขตทางโดยประมาณ 40-50เมตร แบ่งทิศทางการจราจร ไป-กลับ และงานก่อสร้างทางแยกต่างระดับศาลายา สะพานข้ามทางหลวงชนบท นบ.1001 สะพานข้ามทางหลวงชนบท นบ.5035 สะพานข้ามคลองประปา และทางแยกต่างระดับบางคูเวียง
สำหรับโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ - ศาลายา เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นจากทางหลวงชนบท นฐ.5035 ที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แนวเส้นทางวางตัวไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองตาพริ้ง ผ่านทางหลวงชนบท นฐ.3004 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ข้ามคลองนราภิรมย์ ตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบท นบ.1001 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ข้ามคลองจีนบ่าย ข้ามคลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ และแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบท นบ.5035 ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง จากนั้นแนวจะเบี่ยงไปทางขวาวางแนวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองโสนน้อย ตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.1001 (ถนนบางม่วง-บางคูลัด) บริเวณซอยอินทนิล ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จากนั้นแนวจะเริ่มเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา และเบี่ยงขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทร บางกรวย (วัดพระเงิน) แนวเส้นทางจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษก ทล. เชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย นนทบุรีระยะทางรวมโดยประมาณ 12 กิโลเมตร โดยแนวโครงการพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 ตำบล และ 28 หมู่บ้าน-ชุมชน