ผ่างบปี 66 ‘รฟท.’ 2.27 หมื่นล้าน ลุยเวนคืนที่ดิน-รถไฟทางคู่

31 ส.ค. 2565 | 09:36 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2565 | 16:41 น.

“รฟท.” เปิดงบปี 66 วงเงิน 2.27 หมื่นล้าน ลุยใช้งบสร้างโครงการต่อเนื่อง-เวนคืนที่ดิน เตรียมชงครม.เคาะเงิน PSO 1.5 หมื่นล้าน จัดหาอุปกรณ์ซ่อมบำรุงทาง คาดปี 66 โกยรายได้ 9.6 พันล้าน หลังเปิดให้บริการสายสีแดง รุกขนส่งสินค้า-บริหารทรัพย์สิน

ในแต่ละปีหลายหน่วยงานจะมีการขอตั้งงบประมาณเพื่อให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 1 ในนั้นคือ “การรถไฟแห่งประเทศ ไทย” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการที่ต้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับการขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 เบื้องต้นรฟท.ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 22,727 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเวนคืนที่ดิน วงเงิน 10,386 ล้านบาท และงบประมาณค่าก่อสร้างโครงการฯต่อเนื่อง วงเงิน 4,024 ล้านบาท งบประมาณการชำระหนี้แหล่งเงินกู้ วงเงิน 8,317 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 18,700 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้รฟท.ไม่มีการขอรับจัดสรรงบประมาณจากรายการใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่องและงบประมาณจากการเวนคืนที่ดินหลายโครงการฯ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 4,326 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 3,615 ล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีด) วงเงิน 2,020 ล้านบาท, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 424 ล้านบาท
 

ส่วนการขอรับจัดสรรงบประมาณของโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย นั้น ปัจจุบันโครงการฯยังไม่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทำให้รฟท.ยังไม่ได้มีการขอตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย แล้ว เบื้องต้นรฟท.มีแผนที่จะหางบประมาณดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อหาผู้รับจ้างในการประกวดราคา หากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ใช้แหล่งเงินกู้ ทำให้รฟท.ต้องปรับแผนร่วมกับกระทรวงการคลังเพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้ ทั้งนี้หากต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งรฟท.จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะใช้งบประมาณในส่วนใด

 

 

นอกจากนี้รฟท.มีการขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2566 เพื่อชำระหนี้แหล่งเงินกู้ วงเงิน 8,317 ล้านบาท แบ่งเป็น งบชำระหนี้เงินต้น วงเงิน 4,351 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,966 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ภาครัฐขอรับภาระเพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

 

 

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ส่วนการเสริมสภาพคล่องทางการเงินของรฟท.นั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากกิจการขององค์กรขาด ทุนเพราะอัตราค่าโดยสารไม่ได้สะท้อนต่อต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ภาครัฐชดเชยด้านการขาดทุน หากใช้งบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทำให้รฟท.ต้องขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทุกๆ ปี โดยในปีงบประมาณ 2566 รฟท.เตรียมขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) วงเงิน 15,200 ล้านบาท เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งการขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) ในครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากรฟท.ได้มีการจัดหาวัสดุอุปกรณ์รถรางเพื่อนำมาใช้ในการบำรุงทาง ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณจากรายได้ของรฟท. เพราะภาครัฐไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้
 

 “รฟท.มีการใช้งบประมาณขององค์กรเพื่อจัดซื้อรถตรวจสภาพทาง ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์ในการเจียรางรถไฟ ที่ผ่าน มารฟท.เคยของบประมาณแผ่นดิน แต่ภาครัฐให้ความเห็นว่าไม่ใช่การของบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้องใช้งบประมาณจากรายได้ของรฟท.แทน หากงบประมาณจากรายได้ไม่เพียงพอจะใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้แทน ทำให้รฟท.ขาดสภาพคล่องทางการเงินทุกปี ส่งผลให้มีหนี้สะสมจากการดำเนินงานกว่าแสนล้านบาท หากภาครัฐมีการชดเชยงบประมาณ รฟท.ก็ไม่จำเป็นต้องขอเงินกู้ เพราะจะทำให้เกิดการชำระดอกเบี้ยตามมา แต่ในกรณีที่ภาครัฐมีการชดเชยงบประมาณในรูปแบบเงินสด รฟท.ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย”

ผ่างบปี 66 ‘รฟท.’ 2.27 หมื่นล้าน ลุยเวนคืนที่ดิน-รถไฟทางคู่

 

 

ทั้งนี้รฟท.ประมาณการณ์รายได้ในปี 2566 จากรายได้ค่าโดยสารในการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง, ค่าขนส่งสินค้า และรายได้จากบริหารทรัพย์สิน อยู่ที่ 9,620 ล้านบาท ด้านรายจ่าย เช่น ค่าบำรุงรักษาทาง, สัญญาณขบวนรถและค่าดำเนินการเดินรถ อยู่ที่ 16,355 ล้านบาท ทำให้กำไรจากการดำเนินงาน (EBIDA) ขาดทุนอยู่ที่ 6,735 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าบำนาญ, ดอกเบี้ยเงินกู้, และค่าเสื่อมราคา

 

 

อย่างไรก็ตามด้านการขนส่งสินค้าของรฟท.นั้น ทางฝ่ายขนส่งสินค้าพยายามมองหาตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ที่ร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รฟท.ให้ความสำคัญ หาก กทท.สามารถจัดหาผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและบริหารการขนส่งสินค้าเพื่อดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้รฟท.มีรายได้จากการขนส่งสินค้าบริเวณท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันโครงการ SRTO ยังมีอุปสรรค เนื่องจากยังไม่มีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเข้ามาใช้บริการ