thansettakij
ผ่า 5 โมเดลลุ้น “คมนาคม” ปักธง 6 เส้นทาง เก็บค่าธรรมเนียมรถติด

ผ่า 5 โมเดลลุ้น “คมนาคม” ปักธง 6 เส้นทาง เก็บค่าธรรมเนียมรถติด

27 มี.ค. 2568 | 22:00 น.

“คมนาคม” เปิด 5 โมเดลต่างประเทศ ลุยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ฟากสนข.เก็บสถิติจราจร พบ 6 เส้นทางนำร่อง เดินหน้าศึกษาต่อ คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” เปิด 5 โมเดลต่างประเทศ ลุยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
  • ฟากสนข.เก็บสถิติจราจร พบ 6 เส้นทางนำร่อง เดินหน้าศึกษาต่อ คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้  
     

ปัญหาการเดินทางในกรุงเทพและปริมณฑลพบว่าปัจจุบันการจราจรติดขัดหนาแน่นเป็นจำนวนมากในชั่วโมงเร่งด่วนโดยเฉพาะพื้นที่เข้าในเมือง ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในย่านใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจ โดย “กระทรวงคมนาคม” มีแผนศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น 
 
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษามาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) คาดว่าจะเห็นผลการศึกษาเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ ซึ่งเป้าหมายจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดประมาณ 40-50 บาทต่อวันในพื้นที่แนวรถไฟฟ้า เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและลดมลพิษทางอากาศ 

 ทั้งนี้การศึกษารายละเอียดดังกล่าวต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ทั้งข้อดีของการดำเนินการ, พื้นที่ที่จะดำเนินการ, อัตราค่าธรรมเนียม, รูปแบบการชำระค่าธรรมเนียม, รูปแบบการดำเนินการในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และนำมาเปรียบเทียบความน่าจะเป็นกับความเหมาะสมในประเทศไทย รวมถึงระบบทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วน สังคม สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และระบบการขนส่งสาธารณะด้วย

 ที่ผ่านมาสนข.ได้ร่วมมือกับสำนักงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ศึกษาสำรวจปริมาณจราจรของโครงข่ายถนนที่คาดว่าจะมีการดำเนินการมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) จำนวน 6 เส้นทาง เก็บสถิติการจราจร ในปี 2566 ช่วงเวลา 07.00-19.00 น. ประกอบด้วย

 1.ทางแยก เพชรบุรี-ทองหล่อ (ช่วงถนนเพชรบุรี และ ทองหล่อ) มีปริมาณจราจร 60,112 คัน/วัน 2.ทางแยก สีลม-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสีสม) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน 3.ทางแยก สาทร-นราธิวาส (ช่วงถนน นราธิวาสราชนครินทร์ และ ถนนสาทร) มีปริมาณจราจร 83,368 คัน/วัน

 4.ทางแยก ปทุมวัน (ช่วงถนนพญาไท และถนนพระรามที่ 1) มีปริมาณจราจร 62,453 คัน/วัน 5.ทางแยก ราชประสงค์ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนพระราม 1 และถนนเพลินจิต) มีปริมาณจราจร 56,235 คัน/วัน และ6.ทางแยกประตูน้ำ (ช่วงถนนราชดำริ ถนนราชปรารถ และถนนเพชรบุรี) มีปริมาณจราจร 68,473 คัน/วัน
 
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบ 5 ประเทศที่ดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด พบว่า กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมืองในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 วันเสาร์-อาทิตย์ 12.00 – 18.00 ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลง 16% มีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18% ส่งผลให้รายได้อยู่ที่ 352 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 
 
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมืองและพื้นที่มีการจราจรหนาแน่น  ในราคา 1 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ -เสาร์ 06.00-22.00 ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลง 15% ส่งผลให้รายได้อยู่ที่ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี


 

 ส่วนเมืองสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ทางหลวงพิเศษเอสซิงเกเลเดน ในราคา 11 – 45 โครนาสวีเดนต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ - ศุกร์ 06.30 – 18.29 วัน  ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลง 20% มีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้รายได้อยู่ที่ 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 ฟากเมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ถนนสายหลัก E6 ในราคา 9 – 22 โครนาสวีเดนต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ - ศุกร์ 06.30 – 18.29 วัน  ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทำให้ปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลง 10% มีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 6% ส่งผลให้รายได้อยู่ที่ 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 ปิดท้ายที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใจกลางเมืองมิลาน บริเวณเซอร์เคีย เดย บาสติโอนี่ ในราคา 2-5 ยูโรต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ 7.30 – 19.30 วันพฤหัสบดี 07.30 – 18.30 ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมือง ทำให้ปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลง 34% ส่งผลให้รายได้อยู่ที่ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ผ่า 5 โมเดลลุ้น “คมนาคม” ปักธง 6 เส้นทาง เก็บค่าธรรมเนียมรถติด

 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 ประเทศที่มีมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมีปริมาณจราจรในพื้นที่ลดลงในทุกประเทศขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม หากไทยสามารถดำเนินการได้จะทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น อีกทั้งเป็นการจูงใจประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ สอดรับกับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่จะเห็นเป็นรูปธรรมในเดือนก.ย.นี้

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,083 วันที่ 30 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2568