*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,039 ระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** ไปอัพเดทการ “แจกเงินหมื่น” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันหน่อย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ออกมาระบุว่า หลังจากเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2567 ได้โอนเงินให้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 371, 591 ราย โอนสำเร็จแล้ว 311,751 ราย และ กลุ่มผู้พิการคงค้าง 43,317 ราย โอนสำเร็จ 38,265 ราย ซึ่งยังคงค้างประมาณ 65,000 ราย กลุ่มนี้ร้อยละ 90 มีปัญหาเรื่องการผูกพร้อมเพย์ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้รีบดำเนินการ เพราะจะมีการโอนซ้ำอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 21 พ.ย. และวันที่ 21 ธ.ค. รอบสุดท้าย หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนวันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะถือว่าสละสิทธิ์และเงินก็จะส่งคืนคลัง
นายจุลพันธ์ ยังสรุปการดำเนินการที่ผ่านมาว่า ทั้งรอบแรกและรอบเก็บตก 14.5 ล้านราย สำเร็จไปแล้วร้อยละ 99.5 ถือเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ ถือว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ถึงมือครบถ้วนแล้ว
ส่วนประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะนี้ตัวเลขยังไม่ออก ซึ่งอย่างแรก ต้องมองภาวะเศรษฐกิจโดยรวม จะเห็นได้ว่า ในไตรมาสที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่าง ทั้งน้ำท่วม และปัญหาอื่นๆ ซึ่งก็ยังสามารถประคองในสภาวะการเศรษฐกิจ ให้ตัวเลข จีดีพี อยู่ที่ 2.7 ยังคงตรึงอยู่ได้ ด้วยกลไกที่กระตุ้นเข้าไป ส่วนตัวเลขที่ชัดๆ คงต้องรอปลายปีอีกครั้ง
***ต่อด้วย “ข่าวดี” เกี่ยวกับต่างชาติเข้ามาลงทุนบ้านเรา เมื่อ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาเปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 67) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ
ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ ได้ทำให้เกิดการลงทุนโครงการใหญ่ในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จำนวนมาก เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุนในห้วงเวลาสำคัญที่มีกระแสเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก เช่น การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับเทคโนโลยีใหม่ กลไกจัดหาพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสม พื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เป็นต้น
สำหับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท รองลงมา ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท
โดยกิจการที่มีการลงทุนสูงและอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กิจการ Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท โดยมีการลงทุนจากบริษัทรายใหญ่สัญชาติอเมริกัน ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และ อินเดีย
กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวม 546,617 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 180,838 ล้านบาท จีน 114,067 ล้านบาท ฮ่องกง 68,203 ล้านบาท ไต้หวัน 44,586 ล้านบาท และ ญี่ปุ่น 35,469 ล้านบาท
ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่บริษัทแม่สัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกา ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และ Data Center นำบริษัทลูกที่จดจัดตั้งในสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 408,737 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 220,708 ล้านบาท ภาคเหนือ 35,452 ล้านบาท ภาคใต้ 25,039 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23,777 ล้านบาท และภาคตะวันตก 8,812 ล้านบาท ตามลำดับ
*** จาก “ข่าวดีด้านเศรษฐกิจ” ไปดู “ข่าวร้าย” ที่อาจจะเกิดขึ้นกับ “ผู้ใช้รถ” เมื่อมีการประกาศเดินหน้านโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนโยบายนี้ริ่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบายของอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งความชัดเจนของนโยบายนี้จาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม ที่ได้ประกาศเดินหน้าทุกเส้นทาง พร้อมกำหนดการที่ชัดเจนภายในเดือน ก.ย. 2568
ขณะที่ กระทรวงการคลัง ได้เริ่มต้นศึกษาแนวคิดการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” (Congestion Charge) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านสุขุมวิท รัชดาภิเษก และ สีลม เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด จูงใจให้ประชาชนใช้บริการสาธารณะที่ราคาถูกและเข้าถึงได้เป็นทางหลัก โดยพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณการจราจรราว 7 แสนคันต่อวัน ซึ่งแนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากประเทศที่มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา
รายได้จากการจัดเก็บนี้ จะนำมารวมอยู่ในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะจัดเก็บในอัตราเพิ่มขึ้น อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 50 บาท คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี และจะนำเงินรายได้ทั้งหมดไปซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากภาคเอกชน เพื่อรัฐบาลจะได้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าคนละ 20 บาทตลอดสาย แต่ “ค่าธรรมเนียมรถติด” นี้ได้รับการต่อต้านจากผู้ใช้รถใช้ถนน โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลหันไปหาเงินจากแหล่งอื่นมาทดแทนการเก็บ “ค่าธรรมเนียมรถติด” จะดีกว่ามาเก็บกับประชาชน
*** ขณะที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ออกมาชี้แจงถึงเรื่อง “ภาษีรถติด” ว่า ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเก็บที่ไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เราก็ทราบดีว่า การใช้รถยนต์ของตัวเอง มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และกว่าจะกลับถึงบ้านก็ใช้เวลานานมาก ความสุขในครอบครัวก็ไม่มี อย่างไรก็ตาม เรื่องของการเก็บ “ภาษีรถติด” เราจะให้มีการศึกษาก่อนว่า ผลออกมาดีไม่ดีอย่างไร หลังจากนั้นก็จะอธิบายให้ประชาชนฟัง ทั้งนี้ ผลการศึกษาน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี และก่อนผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวออกมา จะต้องเตรียมระบบขนส่งสาธารณะให้เรียบร้อยก่อน
*** สุริยะ ยอมรับว่า ตุ๊กตาที่วางไว้มีตั้งแต่ 40 - 50 บาทต่อวัน โดยเป้าหมายจะเก็บในเส้นทางที่มีรถไฟฟ้า เพราะเมื่อมีรถไฟฟ้าแล้ว ยังจะใช้รถส่วนตัว ก็จะทำให้เกิดมลภาวะ ก็อาจต้องเรียกเก็บ แต่ก็จะมีทางเลือกให้กับรถยนต์ด้วย เช่น เราเก็บเส้นพารากอน ประชาชนที่จะผ่านเส้นพารากอน เพื่อไปพระโขนง ก็จะเปลี่ยนเส้นทางได้ ไปทางเพชรบุรี หรือ พระราม 4 ก็ได้ เราต้องมีทางเลือกให้เขา แต่รถกระบะจะไม่เก็บค่าธรรมเนียม โดยจะเรียกเก็บเฉพาะรถเก๋ง เพราะหากเปลี่ยนพฤติกรรมจากรถเก๋งไปใช้รถไฟฟ้า มลภาวะจะลดลง ...มารอดูกันว่า ค่าธรรมเนียมรถติด หรือ ภาษีรถติด จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่กับเมืองไทย?