ในงาน Dinner Talk : Go Thailand 2025 Women Run the World พลังหญิงเปลี่ยนโลก จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ช่วงค่ำวันที่ 3 กุมภาพันธ์
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษใน หัวข้อ“Global Markets : เกษตรไทยผงาดตลาดโลก” ใจความสำคัญระบุว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในเวทีโลก ในปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับที่ 16 และหวังไทยจะขยับอันดับดีขึ้นเรื่อย ๆ จากสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท
สำหรับในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 2.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน นำเข้าอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 แสดงให้เห็นว่า ไทยยังมีศักยภาพและโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทยในปี 2567 มีมูลค่ารวม 689,409 ล้านบาท ได้แก่ อันดับ 1 ข้าว มูลค่า 199,666 ล้านบาท อันดับ 2 เนื้อไก่ 147,980 ล้านบาท อันดับ 3 ทุเรียน 134,847 ล้านบาท อันดับ 4 ยางพารา 112,571 ล้านบาท โดยยางพาราช่วยทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมากว่า 1 แสนล้านบาท จากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้น รัฐไม่ต้องใช้เงินอุดหนุน อันดับ 5 อาหารสัตว์เลี้ยง 94,345 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกได้แก่ ยางพารา เนื้อไก่ ทุเรียน มะพร้าว มังคุด และมะม่วง
สำหรับปัญหาของภาคเกษตรไทย อาทิ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ที่มีพื้นที่ทางการเกษตร 64.29 ล้านไร่ จากพื้นที่รวมทั้งประเทศ 147.73 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเข้าถึงเพียง 10% ซึ่งงบประมาณมีไม่เพียงพอ ยังต้องขยายแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้กรมชลประทานไปเพิ่มแหล่งน้ำและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
ศ.ดร.นฤมล กล่าวถึงแผนที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยเป็นหนึ่งในตลาดโลก จะต้องทำ 3 นโยบาย ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” จึงย่อยมาเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯจะเร่งทำต่อเนื่องได้แก่ 1.เกษตรมูลค่าสูง ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย ยาง มัน ปาล์ม ทุเรียน และอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสจะเติบโตได้อีก โดยในปี 2568 มีนโยบายขับเคลื่อนพืชหลักที่เป็นเกษตรมูลค่าสูง ได้แก่ กาแฟ,โกโก้ และถั่วเหลือง ที่ผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ยกตัวอย่างกาแฟ ไทยผลิตได้เพียง 3 หมื่นตันต่อปี แต่มีการบริโภคถึง 9 หมื่นตัน ต้องนำเข้า 6 หมื่นตัน ถือเป็นโอกาสทองของเกษตรกร ที่กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนปลูกพืชที่มีมูลค่าต่ำกว่าให้เปลี่ยนมาปลูกกาแฟ โกโก้ หรือถั่วเหลือง ที่มีมูลค่าสูงเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่วนปี 2569 กำลังทำเรื่องเพื่อของบประมาณบรรจุ 14 พืช อาทิ ทุเรียน, มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ที่จะสนับสนุนเป็นเกษตรมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มรายได้และเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของเกษตรกร
2.เกษตรยั่งยืน ในปีนี้ตั้งเป้าผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ 10 ล้านไร่ จากทั้งหมด 64 ล้านไร่ เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยใช้นวัตกรรม และทำงานร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติหรืออีรี่ และองค์กรต่าง ๆ นำมาทดลองในพื้นที่จริงจนได้นวัตกรรมที่เรียกว่า Alternate Wet and Dry Irrigation (AWD) หรือปลูกข้าวแบบทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำกว่า 50% และช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 25-40% แล้วแต่ละพื้นที่ สุดท้ายที่เป็นผลพลอยได้คือ เพิ่มผลผลิตต่อไร่กว่า 50% และจะขยายผลต่อเนื่องอีก 10 ล้านไร่ต่อปี
ด้าน นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยาย ในหัวข้อ Global Aviation Gateway : ไทยศูนย์กลางการบินโลก ว่า ปัจจุบันไทยยังไม่ได้ใช้ข้อได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งที่ประเทศไทยที่อยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง และศูนย์กลางการขนส่งสินค้า หากพัฒนาจะทำให้ประชาชนทั่วโลกที่เดินทางมาภูมิภาคอาเซียนจะเดินทางมาไทยก่อน แล้วต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง หรือสินค้าต่าง ๆ ที่จะขนส่งมายังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคก็ต้องขนส่งมาที่ประเทศไทยก่อนที่จะกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ โดยรอบ ผ่านระบบโครงข่ายคมนาคมที่ดีของไทย
ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของไทย มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 35.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับปีก่อนหน้า นำรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมด
สำหรับในปีนี้ ปี 2568 ประเทศไทยครองตำแหน่ง Destination of the Year 2025 โดยได้รับตำแหน่งติดต่อกันมาแล้ว 10 ปี ประเทศไทยจึงถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต
อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้มุ่งหน้าขับเคลื่อนโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ จากตัวเลขสถิติในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ไทยมีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่เข้ามาแวะพักจอดมากเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย และมีอัตราการเติบโตถึง 14% ปัจจุบันไทยกลับไม่มีท่าเทียบเรือในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเฉพาะ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวก
“กระทรวงคมนาคม ได้มีแผนการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือสำราญบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา ท่าเรือสำราญภูเก็ต และท่าเรือสำราญเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่แวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า”
ส่วนการขนส่งสินค้า จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและเป็นประตูในการนำเข้าและส่งออกของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริงโดยกระทรวงฯได้เร่งดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สามารถรองรับจำนวนตู้สินค้าได้มากขึ้น วงเงินลงทุน 114,030 ล้านบาท และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุดให้สามารถรองรับสินค้าปิโตรเลียมให้มากขึ้น วงเงินลงทุน 59,350 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สำคัญที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลนี้ คือ การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางใหม่ของโลก ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15-20% และลดระยะเวลาในการขนส่งทางทะเลได้ประมาณ 4-5 วัน โครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ของภูมิภาคและของโลก
อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหลักให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 โดยจะทำการขยายอาคารผู้โดยสารหลักปัจจุบันด้านทิศตะวันออก และการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ด้านทิศใต้ และทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา วงเงินลงทุน 170,000 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง ปัจจุบันทอท. ได้กำหนดแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม วงเงินลงทุน 36,830 ล้านบาท