นายวิชิต ดีหนอ ประธานคณะอนุกรรมการการลดต้นทุนการบริหารจัดการการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาเกษตรกรภาคกลาง อาทิ จังหวัดอ่างทอง นครนายก พิจิตร ได้ไปยื่นหนังสือที่รัฐสภาเพื่อขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เวลานี้ได้ประสบปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ และได้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ ( 6 ก.พ.68) นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง มอบหมายให้ นายอำนาจ วิลาวัลย์ สส. พรรคภูมิใจไทย จังหวัดปราจีนบุรี มารับหนังสือ
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างในพื้นที่อำเภอกงไกรลาส ของจังหวัดสุโขทัย โรงสีในพื้นที่จะกำหนดราคาข้าวเปลือกตันละ 8,000 บาทถึง 10,000 บาทต่อตัน โดยชาวนาจะขายข้าวเกี่ยวสดทำให้ขายได้ในราคา 6,200-6,800 บาทต่อตัน ซึ่งไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าหว่านไถ ค่ารถเกี่ยว เป็นต้น
เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาในช่วงราคาผลผลิตตกต่ำ มี 3 ข้อเร่งด่วน ดังนี้
1.มาตรการประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า
-ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาทต่อตัน
-ความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน
2.ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนปัจจัยการเพาะปลูก ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว เป็นต้น
3.สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผาฟาง/ ตอซังข้าวไร่ละ 300 บาท
นายวิชิต เผยอีกว่า ทางสภาเกษตรกรฯ ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติข้าวเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พ.ศ. …. ให้สภาฯ พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำให้เป็นธรรม เนื่องจากภาคเกษตรของประเทศไทยกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิต การแปรรูป และการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนสูงสุด มีกลไกการมีส่วนร่วม มีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐด้านการปฎบัติตามนโยบายเกษตรกรรมชาวนาไทยและข้าวไทย เป็นกลุ่มเกษตรกรเปราะบาง
สำหรับ “ข้าว” เป็นพืชที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งอาชีพหลักและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการเพาะปลูก 2567/68 มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวกว่า 60 ล้านไร่ ผลผลิต 27 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 700,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกข้าวกว่า 1.8 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 25% ของมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ชาวนามีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,400 -2,500 บาทต่อไร่ หรือประมาณ 243,000 บาทต่อปี เมื่อหักชำระหนี้แล้วจะเหลือ 80,000-90,000 บาท ส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 2.3 แสนบาท และต้องกู้ทุกครั้งที่ทำนา ตลอดจนการถือครองที่ดินเกษตรมีจำกัด ต้องเช่าพื้นที่ราคาแพง ปัจจุบันอัตราเช่าอยู่ที่ 800 บาท-1,500 บาทต่อไร่ และยังต้องเผชิญสภาพอากาศที่แปรปรวนในระยะการตั้งท้องข้าว และระยะดอกข้าวบานส่งผลให้การผสมเกสร และการสะสมแป้งในเนื้อข้าวไม่สมบูรณ์ทำให้ข้าวลีบ ไม่มีน้ำหนัก ยิ่งทำให้ถูกตัดราคา
ดังนั้นทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงขอนำเสนอ ในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวของรัฐบาลอย่างเร่งด่วน ให้พิจาณาร่างพระราชบัญญัติข้าวเพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พ.ศ. …. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชาวนา ในเป็นอาชีพมั่นคงในระยะยาว และเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำนา จากปัจจุบันอายุเฉลี่ยของชาวนาไทยอยู่ที่ 59 ปี