นอกจากปัญหาจากอุทกภัย หรือน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายแบบเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าล้างดินโคลนหลังละ 10,000 บาท รวมถึงเงินชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่เรือกสวนไร่นา ภาคประมง ปศุสัตว์ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในรอบล่าสุดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ยังไม่นับรวมถึงสถานีต่อไปคือภาคใต้ที่มีความสุ่มเสี่ยงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ จากมีร่องมรสุมพาดผ่าน
อีกหนึ่งพายุลูกใหญ่คือ ราคาข้าวเปลือก ของเกษตรกรที่เริ่มตกต่ำลง โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่เกษตรกรขายได้ ณ กลางเดือนตุลาคม 2567 (อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมโรงสีข้าวไทย) ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด ความชื้น 15% และความชื้น 25% เฉลี่ยต่ำสุด-สูงสุดที่ 8,000-97,00 บาทต่อตัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เฉลี่ยที่ 11,900-12,200 บาทต่อตัน ส่วนข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิฤดูการผลิตใหม่ (2566/2567)ที่มีพื้นที่ปลูกแหล่งใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ที่กำลังเริ่มเก็บเกี่ยวไปจนถึงปลายปีนี้ ก็มีทิศทางแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
ทั้งนี้เป็นผลพวงจากสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า จากต้นปีนี้เฉลี่ยที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เวลานี้แข็งค่าที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยในตลาดโลกลดลง รวมถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้อนุมัติให้มีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอีกครั้งในรอบกว่า 1 ปี หลังจากที่แบนการส่งออกมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ซึ่งการกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้งของอินเดียในครั้งนี้ จะส่งผลทำให้มีซัพพลายข้าวในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น
ผลที่ตามมาคือ ราคาข้าวสารเจ้า 5% ในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง กระทบถึงราคาข้าวสารที่ผู้ส่งออกข้าวไทยรับซื้อจากโรงสี รวมถึงราคาข้าวเปลือกที่โรงสีจะไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเพื่อมาสีแปรเป็นข้าวสารขายให้กับผู้ส่งออก มีทิศทางปรับตัวลดลง โดยจากต้นปีที่ผู้ส่งออกเคยซื้อข้าวสารเจ้า 5% จากโรงสีสูงถึง 22 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือตันละ 22,000 บาท ล่าสุด (ต.ค. 67) ราคารับซื้อลงเหลือ 16 บาทต่อ กก. หรือ 16,000 บาทต่อตัน
จากความปั่นป่วนของทิศทางสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ เงินบาทแข็งค่า อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง และอีกปัจจัยจากทิศทางแนวโน้มผลผลิตข้าวทั่วโลก ทั้งในประเทศผู้ส่งออกข้าว และประเทศผู้นำเข้าข้าว ปีนี้มีฟ้าฝนเอื้ออำนวยในการปลูกข้าว คาดผลผลิตข้าวทั่วโลกปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น ประเทศผู้นำเข้าจะมีการนำเข้าข้าวลดลง
สัญญาณล่าสุด บริษัทผู้ส่งออกข้าวในลำดับต้น ๆ ของประเทศได้ส่งราคารับซื้อข้าวสารเจ้าหอมมะลิฤดูการผลิตใหม่ล่วงหน้าจากโรงสีในราคาที่ลดลง แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วง ณ ปัจจุบันถึง 31 ต.ค. 2567 ราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิที่ 30,000 บาทต่อตัน คำนวณเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิจากชาวนา ความชื้น 15 % และความชื้น 25% ที่ 16,000 บาทต่อตัน และ 13,600 บาทต่อตัน ตามลำดับ
ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-10 พ.ย. 2567 แจ้งราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิที่ 28,000 บาทต่อตัน คำนวณเป็นข้าวเปลือกความชื้น 15% และความชื้น 25% อยู่ที่ 15,000 บาทต่อตัน และ 12,750 บาทต่อตัน ตามลำดับ และช่วงที่ 3 หลังวันที่ 15 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป แจ้งราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิที่ 26,000 บาทต่อตัน คำนวณเป็นข้าวเปลือกความชื้น 15% และความชื้น 25% อยู่ที่13,500 บาท และ11,475 บาทต่อตัน ตามลำดับ
ทั้งนี้ราคาข้าวหากปล่อยให้เป็นไปตามราคาข้างต้น ซึ่งมีทิศทางที่ตกต่ำลง ถือเป็นอีกหนึ่งระเบิดเวลาลูกใหม่ ที่รัฐบาลต้องเตรียมแผนรับมือ ไม่ว่าจะใช้วิธีเดิม ๆ เหมือนรัฐบาลก่อนหน้าในการช่วยเหลือ ทั้งจำนำยุ้งฉาง จ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 20ไร่ หรืออาจจะมีไอเดียใหม่ ๆ ในการช่วยเหลือก็คงต้องเตรียมการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หากไม่เตรียมสกัดไฟแต่ต้นลม อาจลุกลามบานปลาย เกิดการลุกฮือของชาวนาทั่วประเทศ จะนำมาซึ่งการเสียคะแนนนิยมต่อรัฐบาลได้