thansettakij
ต้นทุนป้องกันโรคพุ่ง ดันราคาหมูขยับตาม จูงใจ “หมูเถื่อน” ทะลัก

ต้นทุนป้องกันโรคพุ่ง ดันราคาหมูขยับตาม จูงใจ “หมูเถื่อน” ทะลัก

11 มี.ค. 2568 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2568 | 09:01 น.

ปัญหาโรคระบาด ASF (African Swine Fever) หรือ อหิวาต์แอฟริกาในสุกร กำลังระบาดในหลายพื้นที่เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งมาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา จึงเป็นสาเหตุให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรไทยสูงขึ้น

จากปัจจัยด้านการป้องกันโรคที่ต้องเข้มงวดกับ “ระบบไบโอซีเคียวริตี้” เพื่อป้องกัน ASF ในระดับสูงสุด ส่งผลให้ระดับราคาหมูขยับขึ้นตามต้นทุนและกำลังจูงใจให้เกิดปัญหา “หมูเถื่อน” จากฝั่งตะวันตกเข้ามาเบียดเบียนตลาดหมูไทยอีกครั้ง

โดยราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทย ณ วันที่ 10 มีนาคม 2568 อยู่ที่ 81-83 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ขยับตามต้นทุนป้องกันโรคที่เพิ่มขึ้นและการตัดวงจรแม่พันธุ์หมูไปส่วนหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา เมื่อราคาหมูในประเทศไทยสูงขึ้น ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตของหมูบราซิลต่ำที่สุดในโลก จึงดึงดูดใจอย่างมากให้ขบวนการหมูเถื่อนเริ่มปฏิบัติการอีกครั้ง

หากยังจำกันได้ การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศมาตั้งแต่ปี 2564 คิดเป็นค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาท หมูเถื่อนส่วนใหญ่ส่งมาจากประเทศบราซิลและยุโรป นำมาขายในราคาต่ำกว่าหมูในประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูซึ่งมีอยู่ประมาณ 200,000 รายได้รับความเดือดร้อน

ต้นทุนป้องกันโรคพุ่ง ดันราคาหมูขยับตาม จูงใจ “หมูเถื่อน” ทะลัก

แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะเข้ามาดำเนินการสอบสวนขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน และขยายผลการสอบสวนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ  บริษัทนำเข้าอาหาร และนักการเมืองที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้จับกุมสองพ่อลูกที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าหมูจากเยอรมนีและบราซิล รวมถึงส่งสำนวนการสอบสวนให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย แต่ DSI ก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีกับทั้งขบวนการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

เมื่อขบวนการดังกล่าวยังลอยนวลและคอยจ้องหาช่องที่จะทำการลักลอบอีกครั้ง เมื่อโอกาสเอื้อเช่นนี้ก็หนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร DSI ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ควรต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพิ่มความเข้มงวดระมัดระวังในทุกจุดที่เปราะบางและเป็นช่องทางการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ห้องเย็น ชายแดน โรงฆ่า โรงแปรรูปหมู เขียงหมู และร้านอาหารต่าง ๆ โดยรัฐจำเป็นต้องอาศัย “ตาสับปะรด” ของทุกหน่วยงานเข้าสอดส่องทุกๆ จุดความเสี่ยง ทุกๆ จุดพักหมูก่อนกระจายสู่ตลาด เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ที่คดียังลากยาวมาจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด

ต้นทุนป้องกันโรคพุ่ง ดันราคาหมูขยับตาม จูงใจ “หมูเถื่อน” ทะลัก

เหตุผลที่ต้องขอให้ DSI กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานต่าง ๆ ผนึกกำลังเข้ม กวดขันมาตรการป้องกันหมูเถื่อนอย่างจริงจังนั้น เป็นเพราะการลักลอบนำเข้าดังกล่าวจะนำมาซึ่งโรคระบาดสัตว์อย่าง ASF ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งต่อภาคการเลี้ยงหมูของไทย รวมถึงเมื่อหมูเถื่อนบุกเข้ามาแล้ว จะทำการขายตัดราคา จนทำให้เกษตรกรไทยหลายรายอยู่ไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพไปในที่สุด เรียกว่า หมูเถื่อนกระทบทั้งความปลอดภัยทางอาหาร  บั่นทอนความมั่นคง และสะเทือนระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

ลำพังหากพบโรคระบาด ASF เข้ามา คนเลี้ยงหมูก็เดือดร้อนกันทั้งประเทศแล้ว นี่ยังต้องคอยกังวลกับปัญหาหมูเถื่อนที่เหล่ามิจฉาชีพพร้อมจะส่งหมูกล่องเข้ามาทุกเมื่อหากเจ้าหน้าที่ไทยละเลยอีก เกิดเป็นคนเลี้ยงหมูไทยไม่ง่ายเลยจริงๆ 

บทความโดย : วลัญช์ ศรัทธา นักวิชาการด้านปศุสัตว์