thansettakij
“พจน์”เตรียมนำทัพธุรกิจไทย ขยายลงทุนสหรัฐ ลดแรงกดดัน "ทรัมป์"

“พจน์”เตรียมนำทัพธุรกิจไทย ขยายลงทุนสหรัฐ ลดแรงกดดัน "ทรัมป์"

02 เม.ย. 2568 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2568 | 09:45 น.

“พจน์” ประธานหอการค้าฯ คนใหม่ สั่งลุยขยายการค้า การลงทุน ดันสินค้าเกษตรและอาหาร ท่องเที่ยวและบริการ พ่วง AI และเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับธุรกิจไทย เตรียมนำทัพบิ๊กธุรกิจดูช่องทางการลงทุนไทยในสหรัฐ ลดแรงกดดันนโยบายภาษี“ทรัมป์”

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ (คนที่ 26) เปิดเผยในการแถลงนโยบายว่า ในปี 2568 เป็นปีแห่งความท้าทาย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเข้ามารับตำแหน่งประธานหอการค้าไทยในปีนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ตนพร้อมที่จะสานต่อการทำงานภายใต้แนวคิดนโยบายของอดีตประธานหอการค้าฯ ที่ผ่านมา รวมทั้งนโยบายของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนก่อนในเรื่อง “Connect the Dots” ที่ให้หอการค้าให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและในครั้งนี้ตนจะต่อยอดเป็นนโยบาย“Unlocking New Growth: ศักยภาพใหม่ แห่งการเติบโต” ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของหอการค้าไทยในการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกช่วง 2 ปีนับจากนี้

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่

ดังนั้นจึงได้ปรับโครงสร้างหอการค้าไทยให้ทันสมัยและตอบโจทย์ เศรษฐกิจใหม่เพื่อให้หอการค้าไทยสามารถเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดยหอการค้าฯ ได้กำหนด 5 เสาหลัก ในการดำเนินงาน จากเดิมที่มี 3 เสาหลัก ได้แก่

1. การค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการค้าชายแดน

2. เกษตรและอาหารแปรรูป ผลักดันเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming), Future Food, Halal และการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร และพร้อมที่จะเป็น Foods hub ของโลก

3. ท่องเที่ยวและบริการ ยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวด้วย การท่องเที่ยวคุณภาพสูง เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ

 ในครั้งนี้ได้เพิ่มเติมอีก 2 เสาหลัก ได้แก่

4. AI, Robot, Digital Technology และ Innovation โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสนับสนุน Startup & Deep Tech เป็นต้น

 5. ความยั่งยืน (Sustainability) ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยก้าวสู่ Net Zero Economy ด้วยการนำหลัก ESG พลังงานทดแทน การลดโลกร้อนมาใช้เป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจ

 “จะเน้นการทำงานในเชิงรุกมากกว่ารับ โดยจะร่วมกับภาครัฐในการผลักดันในทุกสถานการณ์การค้า การลงทุนโลกเพื่อรักษาการผลิตของประเทศ และพร้อมที่จะรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนี้ จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และการขับเคลื่อนการค้า การลงทุนของไทย ให้สอดคล้องกับซัพพลายเชนของโลก จากปัจจุบันความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้า ส่งผลโดยตรงต่อการการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมของไทย

ที่ผ่านมาได้มีการตั้งกลไกความร่วมมือไทย-จีน และความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เช่น ไทย-สหรัฐ,ไทยสหภาพยุโรป (อียู),ไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น และตั้งทีมพิเศษกับภาครัฐเพื่อจับตาการค้าโลก การผลักดัน FTA และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า เพื่อแสวงหาโอกาสให้กับภาคธุรกิจไทย รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น บีโอไอ เป็นต้น

 “วันนี้การส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยโดยให้เขา(ต่างชาติ)เข้ามาอย่างเดียวไม่ง่าย ดูอย่างสหรัฐนอกจากเราขายสินค้าให้เขาแล้ว เขาก็อยากขายให้เราเช่นกัน และเขายังต้องการให้เราไปลงทุนด้วย ซึ่งต้องสร้างความสมดุลให้ได้ แม้ไม่สามารถเท่ากันได้ในระดับไซซ์เดียวกันก็ตาม แต่เราต้องออกไปลงทุนในประเทศเขาบ้าง”

โดยวันที่ 9-14 พฤษภาคมนี้ จะนำทีมหอการค้าไทย และสมาชิกที่มีความพร้อมและสนใจอยากจะลงทุนในสหรัฐร่วมหอการค้าอเมริกาในไทย และทีมรัฐบาลเพื่อเข้างาน SelectUSA ที่ทุกมลรัฐของอเมริกาได้เชิญชวนไปลงทุน ซึ่งตนจะนำผู้บริหารของบริษัทที่มีศักยภาพไปดูลู่ทางเพื่อขยายการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย หลังมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ  

อนึ่ง ข้อมูล ณ ปี 2564 มีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยลงทุนในสหรัฐแล้ว อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)  บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)  เป็นต้น