สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์การผลิตมะพร้าวผลแก่ ปี 2568 คาดว่า มีเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 0.828 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่ 0.821 ล้านไร่ (เพิ่มขึ้น 7,368 ไร่ หรือร้อยละ 0.90) ปริมาณผลผลิตทั้งปี 633.25 ล้านผล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิต 600.52 ล้านผล (เพิ่มขึ้น 32.731 ล้านผล หรือร้อยละ 5.45) เนื่องจากในช่วงปลายฤดูฝนของปี 2567 มีปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น และหากในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณนํ้าฝนเพียงพอต่อความต้องการของมะพร้าว จะทำให้ต้นมะพร้าวมีการสะสมอาหารและมีความสมบูรณ์ขึ้น จะส่งผลให้การออกดอกและการติดผลต่อทะลายเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี คาดการณ์ผลผลิตดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากคาดว่าต้นมะพร้าวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2567 จากการระบาดของหนอนและแมลงศัตรูมะพร้าว เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด ทำให้ในปี 2568 ต้นมะพร้าวอาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ การติดจั่นและจำนวนผลมะพร้าวต่อทะลายในช่วงปี 2567 ที่จะให้ผลผลิตได้ในปี 2568 ลดลง โดยเฉพาะในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และ ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางชาวสวนมะพร้าวอินทรีย์ในเวลานี้ได้รับความเดือดร้อนจากถูกต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญคือ สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอื่นๆ ได้หยุดซื้อมาปีกว่าแล้ว หลังจากไทยถูกกล่าวหาเรื่องการนำลิงกังมาเก็บมะพร้าว เป็นการทรมานสัตว์
ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ของพีต้า (PETA) ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ ได้ปลอมตัวเป็นพ่อค้ารายใหม่ มาเป็นผู้รับซื้อมะพร้าวในอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีการพบและพูดคุยกับเกษตรกรรายหนึ่ง โดยได้สอบถามว่ามะพร้าวต้นสูงขึ้นไปอย่างไร เกษตรกรได้ตอบว่าใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว โดยโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งระหว่างการสนทนาได้มีการอัดคลิปวีดีโอไว้ เป็นที่มาของการประท้วงในที่ต่างๆ ที่มีนํ้ามะพร้าวกะทิไทยไปขาย ทำให้คู่ค้าในหลายประเทศหยุดซื้อสินค้าไทยมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยอ้างลิงได้ถูกพรากออกจากแม่ มีการล่ามและขังในกรงขนาดเล็ก เมื่อเลิกใช้งานก็ถูกทิ้ง โดยตั้งข้อสังเกตว่าไม่เห็นมีโรงเรือนเลี้ยงลิงแก่เลย
“ในความเป็นจริง ปัจจุบันชาวสวนใช้ไม้ตะขอเกี่ยวเก็บมะพร้าว ส่วนต้นสูงก็ปล่อยให้หล่นตกลงมาเอง ที่ผ่านมาก็พยายามเสนอผ่านทางรัฐบาลหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร แยกเป็นรายเครื่องมือ ใครใช้ไม้สอย หรือใช้เครื่องมืออื่นๆ หรือสวนไหนใช้ลิงกัง ก็ต้องจับแยก ซึ่งทางกระทรวงก็ตอบมาแล้วว่ารองบประมาณปี 2569 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องราคา เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และหนอนหัวดำระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตมีน้อย และขายได้ราคาดี”
แต่ที่ห่วงคือ ในอนาคตหากผลผลิตออกมามาก หากตลาดต่างประเทศยังมีปัญหาจะแก้ไขไม่ทัน ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ได้ลงคำสั่ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 เรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นห่วงว่า หากผลผลิตกลับมามีมากจะส่งผลต่อราคาอีกครั้ง ทั้งนี้จะเร่งสื่อสารเชิงรุกกับต่างประเทศถึงข้อเท็จจริง รวมถึงการส่งเสริมการปลูกใหม่ โดยให้มีการตั้งงบชดเชยต้นมะพร้าวเก่า รวมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับมะพร้าวต้นเตี้ย
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า สถานการณ์ะพร้าวยังขาดแคลน เนื่องจากภัยแล้งต่อเนื่องจากปลายปี 2566 โดยคาดการณ์จาก สศก. ปี 2568 ผลผลิตในประเทศจะมีราว 0.83 ล้านตัน (ปี 2567 มี 0.84 ล้านตัน ขณะที่ ปี 2568 ความต้องการใช้ประมาณ 1.2 ล้านตัน (ใกล้เคียงกับปี 2567) และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการอนุมัติให้นำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลง AFTA เนื่องจากไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพืชนํ้ามันและนํ้ามันพืช
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องอาศัยการนำเข้านอกโควตาองค์การการค้าโลก (WTO) ต้องเสียภาษี 54% ทำให้ราคามะพร้าวนำเข้าปรับสูงขึ้นจาก 7-9 บาทต่อผลในปี 2566-2567 เป็น 17.6 บาทต่อผล ในปี 2568 ส่วนราคามะพร้าวผลในประเทศราคารับซื้อหน้าโรงงาน 24-38 บาทต่อผล และราคาเนื้อมะพร้าวขาวเข้าโรงงาน 45-63 บาทต่อกิโลกรัม นับว่าเป็นราคามะพร้าวสูงสูดในรอบ 30 ปี เนื่องจากผลผลิตขาดแคลนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2567
“จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า (2568-2572) ผลผลิตมะพร้าวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตเฉลี่ย 0.5% ต่อปี ในแต่ละปีไทยจะมีส่วนแบ่งการผลิตราว 1-2% คาดว่า ตลาดนํ้ามะพร้าวจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 40% เนื่องจากแนวโน้มอาหารเพื่อสุขภาพกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ไทยส่งออกกะทิในทุกรูปแบบมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,085 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2568