นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากปัญหาราคายางตกต่ำและเป็นปัญหาต่อเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอดซึ่งคนส่วนใหญ่จะมุ่งไปเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเชื่อมโยงกับปริมาณผลผลิตและเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะใช้นักวิชาการนั่งวิเคราะห์ปัญหา แต่นักวิชาการที่ให้ข้อมูลซึ่งไม่เคยขายยางมาเลย ตรงกันข้ามผู้ที่รู้ข้อมูลที่ดีที่สุดคือพ่อค้ายางที่นั่งวิเคราะห์ เพื่อที่จะซื้อยางจากเกษตรกรนั่นเอง เป็นผู้ที่รู้จริง เพราะถ้าไม่รู้จริงจะทำให้บริษัทขาดทุนทันที
ดังนั้นการทำงานของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยางในภาครัฐจึงควรจะต้องออกมามีบทบาทตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 10(6)โดยการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราโดย กยท.จะต้องออกมาตั้งบริษัทรับซื้อยางก็จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องชี้นำราคาเพื่อความเป็นธรรมต่อเกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
อนึ่ง สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอยู่เลยก็คือ พรบ.ควบคุมยาง พศ.2542 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคายางของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องยางทุกคนทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและในมาตรา 5 บัญญัติไว้แล้วว่าให้รมว.เกษตร รักษาการตราพรบ.นี้มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งจะเป็นรมว.เกษตรหรือ รมช.เกษตรเป็นประธานโดยมีผู้ว่า กยท.เป็นหนึ่งในคณะกรรมการควบคุมยางมาตรา 17 ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้
นายอุทัย กล่าววว่า ให้คณะกรรมการควบคุมยางมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้มาตรา 23 การทำบัญชีการซื้อขายและยางคงเหลือเพื่อส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไปเมื่อพนักงานบัญชีดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอะไรบ้างในทางปฏิบัติทราบว่ามีการว่างจ้างให้บุคคลภายนอกมาทำบัญชีดังกล่าวให้กับบางบริษัทซึ่งเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงความจริงและใช้ไม่ได้ เพราะจะต้องมีการบันทึกในการซื้อขายยางคงเหลือจากของจริง ซึ่งจากความเป็นจริงผู้ค้ายางทุกรายไม่ได้จดทะเบียนค้ายางทุกราย บางรายจดครั้งแรกเมื่อครบ 1 ปีก็ไม่ได้ต่ออายุใหม่
“ถ้าบัญชียางผู้ค้ายางทุกรายทำบัญชีตามความเป็นจริงจะทำให้ทราบราคาพ่อค้าที่ขายไปต่างประเทศหรือในประเทศซึ่งจะต้องบันทึกไว้หมดและตรวจสอบการซื้อจริงขายจริงของพ่อค้าแต่ละรายว่าดำเนินธุรกิจตรงไปตรงมาหรือไม่ ซึ่งทางภาครัฐจะได้ทราบปริมาณยางคงเหลือ หลังวันที่ 10 ของทุกเดือน ในการมีใบอนุญาตตาม พรบ.ควบคุมยาง 2542 นี้มิใช่มีแต่ผู้ซื้อขายยางและผู้ส่งออกยางนอกราชอาณาจักรแต่ยังควบคุมถึงผู้นำพันธุ์ยางเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก็ต้องมีใบอนุญาตนำพันธุ์ยางเข้ามาจำหน่ายในประเทศด้วย ซึ่งผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม พรบ.นีัมีโทษทั้งปรับ และจำคุก เพราะทุกฝ่ายเมื่อมีความต้องการในการรักษาเสถียรภาพราคายางและเพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางทุกคน”
ดังนั้น รมวเกษตร จะต้องพิจารณานำ พรบ.ควบคุมยาง 2542 นี้ออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งเพราะที่ผ่านมา รมว.เกษตรไม่ค่อยเรียกประชุมคณะกรรมการ ซึ่งบางปีไม่เคยมีประชุมเลยทั้งๆ ที่เป็นอาวุธในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้อย่างดีเพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ยึดใบอนุญาตหรือลงโทษตามพรบ.ได้เพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในประเทมาเลเซียผู้ผลิตยางรายใหญ่และชาวสวนยางรายย่อยประมาณ 4 แสนรายกลับไม่มีปัญหาเรื่องราคายาง เพราะมาเลเซียให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคายางเป็นอย่างมาถึงกับต้องมี พรบ.รักษาเสถียรภาพราคายาง (rubber price stabilization act)
“เพื่อเสถียรภาพราคายางและเพื่อความมั่นคงของเกษตรกรชาวสวนยางและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาง รมว.เกศตรจะต้องบังคับใช้ พรบ.ควบคุมยาง พศ.2542 โดยด่วนที่สุด เพราะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ไม่ต้องใช่งบประมาณมากนักและมีอำนาจอยู่ที่กระทรวงเกษตร ตาม พรบ. กยท.และพรบ.ควบคุมยางอยู่แล้ว ทำไม รมว.จึงไม่เรียกประชุมคณะกรรมการตาม พรบ.ควบคุมยาง 2542 เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรซึ่งในการแก้ปัญหาวิธีเดิมที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีผล เมื่อไม่ได้ผลก็ใช้วิธีแทรกแซงราคายางซึ่งปัจจุบันก็ใช้วิธีประกันราคายาง เสียงบแผ่นดินไป
นายอุทัย กล่าวว่า แต่ถ้า รมว.เกษตรฯ ได้ลองหันมาใช้ พรบ.ควบคุมยางและเอาจริง กับบทลงโทษให้เข็ดหลาบก็จะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างที่ไม่เคยใช้มาเลยตั้งแต่ปี พศ.2542 ที่ พรบ.ควบคุมยางฯ ออกมาถึงเวลาแล้วที่ รมว.เกษตร ควรเดินแนวทางตาม พรบ. อย่างเคร่งครัดแเละจริงจังเสียทีโดยทำเพื่อผู้ที่เกี่ยวข้องผู้ที่สุจริตทุกคนยางพาราก็จะได้มีอนาคตสดใส