นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท.ระดับประเทศ (คยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากราคายางตกต่ำ ทางเครือข่ายฯ กำลังนัดประชุมในเร็วๆนี้ ให้เร็วที่สุด ปัญหาเรื่องโควิด ทางผู้นำเกษตรกรไม่อยากที่จะประชุมซูมกัน เพราะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถนัด แล้วในขณะนี้ปัญหาโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ละคนได้มีการฉีดเข็มแรกไปแล้ว ดังนั้นจึงได้สั่งการให้มีการประชุมเพื่อที่จะหารือกัน เป็นกลไกอย่างไรในการประชุมในภาพรวม และมีการนำเสนอในแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นว่า ราคายางเวลาเปิดหน้ายาง เป็นแบบนี้ ควรที่จะมีการควบคุมกลไกอย่างไร
“คุณไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลพ่อค้ายาง นายทุน จึงขอนำเสนอใช้ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะต้องให้ผู้ค้ายางทุกรายจะต้องมีใบอนุญาตค้ายาง และต้องรายงานบัญชีการซื้อขายยาง ตาม จะร่วมมือกันในการออกตรวจใบอนุญาตค้ายางแบบปูพรมทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด แต่กรรมการชุดนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งมาเกือบปีแล้วไม่เคยนัดประชุมเลย ควรที่จะมีนัดการประชุมและวางกลไกในการกำกับดูแล เป็นอาวุธเรื่องพ่อค้าอารัดเอาเปรียบชาวสวนยาง โดยเฉพาะตลาดข้างถนน โกงอยู่ในระดับนั้นส่วนใหญ่แล้ว”
แต่วันนึ้คิดแต่จะพึ่งพิงรัฐบาลอย่างเดียว หากราคาตกต่ำ ก็พึ่งพิงประกันรายได้ แล้วถ้าราคาตกต่ำมาก จะเอาเงินที่ไหนมาอุดหนุน หากไม่ทำคู่มือขนานมาสร้างเป็นองค์ประกอบร่วมด้วยจะมีปัญหา จะต้องใช้เครื่องมือของรัฐ ก็คือ กฎหมาย ดังนั้นควรที่จะประชุมหารือกันให้เร็วและด่วนที่สุด เพื่อที่จะใช้ พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เชื่อมันว่าจะช่วยสกัดราคายางดิ่งเหวได้ในระดับหนึ่ง
สอดคล้องกับนายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงจากปัญหาโควิดระบาด มาเลเซียยังปิดประเทศจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ตอนแรกประกาศล็อกดาวน์ แค่ 14 มิถุนายน 2564 ราคายางช่วงนี้จึงลดลงโดยเฉพาะน้ำยางสด
แม้ กยท.พยายามจะหยุดยั้งการดิ่งของราคา แต่ก็ทำได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้เริ่มตึงมือ ผมจึงขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวสวนยางที่ขายน้ำยางสด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวสวนยางในภาคใต้ ถ้าเรารอแต่หวังพึ่งพาคนอื่น แต่เรากลับไม่ช่วยตัวเองเลย ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้
นายสุนทร กล่าวว่า ช่วยกันเสียสละ ด้วยการหยุดขายน้ำยางสด ให้หันมาทำยางก้อนถ้วย ทำง่ายไม่ยากเลย ถ้าทุกคนสามัคคี เพราะไม่ต้องหาอุปกรณ์ใหม่ ไม่ต้องใช้แรงงานฝีมือ เหมือนการทำยางแผ่นดิบ จอกยางก็มีแล้วแค่เรียนรู้การหยอดกรด และเก็บยางไว้ 1 เดือน ก็จะได้ยางก้อนแห้ง DRC 75%
ดังนั้นพี่น้องหยุดขายน้ำยางสดสัก 1 เดือน ผมก็อยากรู้ว่าพ่อค้าและโรงงานยังจะกดราคาน้ำยางสดได้ไหม ส่วนยางก้อนถ้วยให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ทำโครงการชะลอการขายยางกับ กยท.เพื่อเอาเงินสดมาหมุนจ่ายให้พี่น้องชาวสวนยางที่เข้าโครงการได้รับเงิน 80% ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก่อน
“ผมเสนอให้พี่น้องทำยางก้อนถ้วยช่วงวิกฤต เพื่อลดปริมาณน้ำยางสดหลายคนกังวลโน่นนี่นั่น ชาวสวนยางเปลี่ยนพฤติกรรมยากบ้าง กลัวขโมยบ้าง ราคายางก้อนจะตกต่ำบ้าง คือกลัวทุกอย่างแม้กระทั่งเงาของตัวเอง แล้วจะไม่เสียสละอะไรบ้างเชียวหรือปัญหาราคายางก้อนถ้วยตกต่ำ คุณไปศึกษาโครงการชะลอการขายยางให้ดี แก้ไขได้ ภาคเหนือนำร่องสำเร็จ ขายยางก้อนถ้วยแห้งได้ราคาบวก 4.5 บาท พ่อค้ากด DRC ไม่ได้ ทุกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีกำไรไปแบ่งปันพี่น้องที่เข้าร่วมโครงการ
แต่การเสียสละของชาวสวนยาง เพื่อผลักดันราคายางภาพรวมให้สูงขึ้น ไม่ควรมีคำถาม ข้อสงสัยเยอะ การทำศึกต้องฟังแม่ทัพ ถ้าชาวสวนยางไม่เสียสละ ยากจะชนะการศึก สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดคือ "mind set" หรือ "สัมมาทิฏฐิ" ทุกวงการ
อย่างไรก็ดีจากการที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตัวผมก็ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม แต่ก็ไม่ประมาท คาดว่าภายใน 120 วันพี่น้องชาวสวนยางคงฉีดวัคซีนครบทุกคน
1.จะเดินทางไกลไปพบพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศในช่วงปลายปีจนครบทุกจังหวัด จากนั้นจะจัดประชุมใหญ่สมาชิกสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่กรุงเทพมหานคร
2.จะเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ด้วยยุทธวิธีของสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
2.1 แก้ไขปัญหา DRC ตีนเหยียบ ที่พี่น้องชาวสวนยางถูกโกงน้ำหนักและราคา ด้วยโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยของ กยท.ไปทั่วประเทศ
2.2 แก้ไขปัญหาราคาน้ำยางสดตกต่ำ ด้วยการใช้กลไก กยท.รับซื้อน้ำยางสดแปรรูปเป็นน้ำยางข้นและเป็นยางแผ่น เข้าสต๊อกเพื่อขาย หากราคาน้ำยางสดยังดิ่งผิดปกติจะใช้กลไกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนการขายน้ำยางสดเป็นการทำยางก้อนถ้วยภายใต้โครงการชะลอการขายยางของ กยท.ที่เกษตรกรสามารถเบิกเงินไปใช้ก่อน 80 %
2.3 จะรักษาสมดุลการผลิตยางแผ่นในตลาดไม่น้อยกว่า 10% เมื่อราคาน้ำยางสดลดลงและมีส่วนต่างทางการตลาดมากพอโดยไม่เสี่ยง จะใช้กลไกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง แปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมี่ยม
2.4 ลดห่วงโซ่อุปทาน(supply chain) ให้สั้นลง โดยจะให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางขายน้ำยางสดไปยังผู้ใช้ยางโดยตรง ซึ่งจะใช้น้ำยางสดจากสวนยางยั่งยืน ที่มีมาตรฐาน GAP GMP และมาตรฐานรับรองการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนระดับสากล เป็นเครื่องมือและกลไก โดยให้ กยท.เป็นคนบริหารจัดการผ่านเครือข่ายน้ำยางสด มีเป้าหมายสร้างราคาบวกจากตลาดกลาง ไม่น่อยกว่า 5 บาท
3.ใช้กลไกรัฐให้สนับสนุนการทำสวนยางยั่งยืน มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่รูปธรรมสวนยางยั่งยืน 2 ล้านไร่ภายใน 10 ปี และต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวสวนยางให้เปลี่ยนกระบวนคิด(mind set) ใช้สวนยางยั่งยืน สร้างรายได้เสริม เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายยางเพียงอย่างเดียว อันเป็นการพึ่งพาตนเองด้วยศาสตร์พระราชา
4.ภายในปี 2564 จะผลักดันการแก้ไขประกาศคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เพื่อให้พี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ สามารถขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางได้ตามมาตรา 4(บัตรสีเขียว) และสคยท.จะเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งดำเนินการวัดแปลงและออกหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามมติ ครม.26 พ.ย 2561 เพื่อให้ชาวสวนยางบัตรสีชมพูที่ยกระดับเป็นบัตรสีเขียว สามรถใช้สิทธิการปลูกแทนตามมาตรา 36 ได้
5.จะเร่งดำเนินการโครงการนำร่อง การจัดสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง แบบสมัครใจ จ่ายสมทบ ลักษณะสังคมสวัสดิการ ในปีงบประมาณ 2565 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564) ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดคือชาวสวนยางจัดการตนเองเพื่อยกระดับรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง โดยใช้กลไกการยางแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง