นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ “sacit” เปิดเผยว่า เป้าหมายการดำเนินงานของ sacit ที่มีอยู่ 3 ด้าน คือ สืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม ในปีนี้เพื่อเป็นการผลักดันเป้าหมายดังกล่าว sacit ได้เตรียมความพร้อมจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 งานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยและงานคราฟต์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีรวม 2 งานใหญ่ไว้ในงานเดียว เพื่อเป็นการประกาศความพร้อมกลับมาเปิดประเทศ และผลักดันผู้ประกอบการไทยสู่การค้าในเวทีโลก
โดยงานครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ฮอลล์101-102 ภายใต้แนวคิด “ผสานภูมิปัญญาอย่างร่วมสมัย ส่งต่อฝีมือคนไทยสู่สากล” ซึ่ง sacit ยังคงคอนเซ็ปต์สืบสานองค์ความรู้และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้สูญหายไป ผสมผสานไปกับการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ทั่วถิ่นไทย และสินค้างานคราฟต์ฝีมือคนไทย ที่สร้างสรรค์อย่างร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ รวมมากกว่า 650 คูหา
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษภายในงาน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ส่วนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมถึงการสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตกรรม และทายาทช่างศิลปหัตกรรม ประจำปี 2565 เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่เข้าชมได้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรุ่นใหม่มาร่วมอนุรักษ์และสืบสานงานช่างฝีมือเหล่านี้
การจัดงานหัตถกรรมและคราฟต์ที่ยิ่งใหญ่แห่งปีครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการประกาศความพร้อมของผู้ประกอบการไทย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงกระจุกตัวอยู่ในประเทศเท่านั้น ด้วยศักยภาพที่ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้จากนโยบายการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติทยอยเข้าไทยเพิ่มขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมของการเปิดตลาดการค้างานหัตถกรรมและคราฟต์ไทยสู่สากล ผลักดันเม็ดเงินเศรษฐกิจจากภาคส่งออกเพิ่มขึ้น
“ภารกิจสำคัญของ sacit ยังมีส่วนการส่งเสริม ซึ่งปีนี้เรามีเป้าหมายจะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยนำสินค้าหัตถกรรมและงานคราฟต์มากฝีมือไปเปิดตลาดในต่างประเทศให้มากขึ้น ผ่านการจัด business matching ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์และแนวคิด รวมทั้งปรึกษาการขยายช่องทางจัดจำหน่ายงานศิลปหัตถกรรมในรูปแบบออนไลน์ต่างๆ”