วันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ได้จัดประชุมฯ ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และ Shrimp Board ได้ร่วมกันกำหนดราคาประกันขั้นต่ำกุ้งขาวแวนนาไมขนาดต่าง ๆ พร้อมแจงเงื่อนไขการรับซื้อและความต้องการวัตถุดิบกุ้งของโรงงาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การรับซื้อไปจนถึงสิ้นปี 2565 หวังรักษาเสถียรภาพราคา และสร้างความเชื่อมั่นในการลงกุ้งให้กับเกษตรกร โดยมีราคาและเงื่อนไขฯ ดังนี้
โดยมีเกณฑ์พิจารณาคุณภาพกุ้ง 3 ด้าน ดังนี้
1) เกณฑ์มาตรฐานทางกายภาพ
- ต้องไม่มีหางไหม้ เนื้อน้ำตาล เปลือกหลุด หางกุดท้องดำ แผลที่เกิดจากการติดเชื้อและทำความเสียหายให้กับเนื้อกุ้ง
- แผลที่เกิดกับเปลือกกุ้งแต่ไม่เสียหายกับเนื้อกุ้ง ไม่เกินร้อยละ 15
- ตัวนิ่ม ไม่เกินร้อยละ 5
- กุ้งผอม ไม่เกินร้อยละ 5
- กุ้งพิการ ไม่เกินร้อยละ 5
- ตัวกึ่งนิ่ม หรือน่วม ไม่เกินร้อยละ 10
- ปล้องแตก หางกุด เว้าแหว่ง ไม่เกินร้อยละ 10
2) เกณฑ์มาตรฐานทางกลิ่น
ต้องไม่มีกลิ่นหญ้า กลิ่นโคลน กลิ่นน้ำเน่า กลิ่นน้ำมัน กลิ่นข้าวโพด หรือกลิ่นผิดปกติอื่น ๆ
3) เกณฑ์มาตรฐานทางเคมี (สารตกค้าง)
ฟาร์มที่ขายกุ้งในโครงการฯ ต้องมีผลตรวจสารตกค้าง 3 รายการ ได้แก่ Nitrofurans Fluoroquinolone และ Tetracycline ให้กับโรงงาน ณ วันจับกุ้ง หากผลการตรวจพบสารตกค้างทางห้องเย็นจะไม่รับซื้อกุ้งบ่อนั้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปย้ำชัดเป็นราคารับซื้อปากบ่อ และเน้น กุ้งสวย สด ขนาดได้
ข่าวดีต่อที่สอง Shrimp Board เห็นชอบ “โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศ ปี 2565” วงเงินรวม 164.80 ล้านบาท เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหารของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลในรูปแบบการจ้างผลิตอาหารโดยตรงกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยจะเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมฯ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาไม่เกินเดือนกันยายน 2565 นี้
นอกจากนี้ Shrimp Board ได้ร่วมกันพิจารณาสถานการณ์ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ปี 2565 (ม.ค. - ก.ค.) ซึ่งมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยง รวมทั้งสิ้น 138,733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ค. 64) ผลผลิตลดลงเพียงร้อยละ 3.09 ซึ่งไม่มากนัก โดยกุ้งขาวแวนนาไมมีประสิทธิภาพการผลิตเฉลี่ย 7.09 ตัน/ล้านตัว และกุ้งกุลาดำมีประสิทธิภาพการผลิตเฉลี่ย 7.83 ตัน/ล้านตัว
เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) พบว่า มีค่าเฉลี่ยประมาณ 4 - 5 ตัน/ล้านตัว แสดงให้เห็นว่า การผลิตกุ้งของไทยสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวได้ในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่ง Shrimp Board เล็งเห็นว่า แต่ละพื้นที่การเลี้ยงกุ้งควรมีเกษตรกรต้นแบบการเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกษตรกรรายอื่นได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับฟาร์มของตนเอง โดยได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานถอดบทเรียนการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งมีผู้แทนทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้แทนเกษตรกร ร่วมเป็นคณะทำงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ Shrimp Board ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ
อธิบดีกรมประมง ประธาน Shrimp Board กล่าวในตอนท้ายว่า ภายใต้การทำงานของ Shrimp Board และทุกภาคส่วน เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายร่วมกัน พร้อมเผยว่า Shrimp Board อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะกลางและระยะยาว ซึ่งอาจมีข่าวดีให้พี่น้องเกษตรกรในเร็ววันนี้