ตัวเลขค้าชายแดนของไทยกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด-19 มูลค่าการค้าที่เคยขึ้นไป แตะ 1.53 ล้านล้านบาท ในปี 2561 หรือก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่ 1.45 ล้านล้านบาท และเคยส่งออก ได้ถึง 8.98 แสนล้านบาท จนตั้งเป้าจะให้ถึง 1 ล้านล้านบาท แต่พอเจอ โควิดมูลค่าการค้าหดวูบ
เมื่อโควิดคลี่คลายกระทรวงพาณิชย์จึงมุ่งฟื้นการค้าชายแดน โดยทำโครงการมหกรรมการค้าชายแดน ปี 2565 ขึ้น เป้าหมาย 8 จังหวัด ล่าสุดระหว่างวันที่ 19-21 ส.ค. 2565 ณ หอประชุมโดมใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี จากก่อนหน้าจัดแล้วที่นครพนม แม่ฮ่องสอน ยะลา และสงขลา
นายพีรพัฒก์ อุทัยศรี ผู้อำนวยการกองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ กล่าวว่า การจัดงานนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน เพิ่มความสามารถการแข่งขันเสริมศักยภาพผู้ค้าชายแดน
กิจกรรมสำคัญในงานที่สำคัญ 4 ด้านหลัก คือ การแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพส่งออกของอุบลราชธานีและใกล้เคียง จากผู้ประกอบการกว่า 80 ราย ของอุบลราชธานี การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างพ่อค้าชายแดนไทย กับผู้นำเข้าในประเทศเพื่อนบ้าน การสัมมนาหัวข้อ “ลดต้นทุนธุรกิจ ติดอาวุธทางการค้า พิชิตตลาด RCEP” และ การประชุมร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและภาคเอกชน
นายทรงพล วิชัยขัทคะ รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีพรมแดนติดกับเพื่อนบ้าน 2 ประเทศ คือ สปป.ลาวและกัมพูชา ช่องทางการค้าสำคัญคือ จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก อ.สิรินธร โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้ากว่า 25,000 ล้านบาท สินค้าขึ้นชื่อของอุบลราชธานี อาทิ ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี หมูยอ กุนเชียง ก๋วยจั๊บญวนกึ่งสำเร็จรูป ปลาร้า ปลาส้ม แจ่วบอง งานหัตถกรรมอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนสินค้าเกษตรแปรรูป ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้เข้าถึงผู้ซื้อในต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น
การค้าไทยกับสปป.ลาว ด้านหนองคายมีแนวโน้มฟื้นเร่งตัวขึ้นเดือนมิ.ย. 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 10,109.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. 2565 จำนวน 432.36 ล้านบาท หรือเติบโต 4.47 ขณะที่ตัวเลขการค้า 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) 2565 มี มูลค่าการค้ารวม 52,445.23 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีมูลค่า 36,750.85 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 42.70%
นอกจากนี้เดือนมิ.ย. 2565 ยังมีมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย-ลาว ผ่านด่านศุลกากรหนองคาย รวม 22,105.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 1,866.89 ล้านบาท หรือเติบ โต 9.22 % สอดคล้องกับตัวเลขสถิติการขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ลาว ที่เพิ่มขึ้น เป็นสินค้าขาเข้า 38 ตู้ ส่งออกไปจีน 75 ตู้ ส่วนหนึ่งเป็นผลไม้ไทย คือ ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ที่ตลาดจีนมีความต้องการ
ส่วนการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่เจออุปสรรค นอกจากการระบาดเชื้อโควิด-19 ยืดเยื้อ 2 ปีครึ่งที่ต้องปิดพรมแดนระหว่างกันแล้ว ยังมีผลข้างเคียงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในของเมียนมา หลังการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของทหาร แต่พ่อค้าชายแดนไทยใช้ประสบการณ์ยาวนาน มีวิธีบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบ อาทิ เปลี่ยนเส้นทางขนส่งมาลงเรือที่ด่านระนองแทน รวมถึงทำการค้าด้วยเงินบาทเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
ล่าสุด มีสัญญาณบวกเพิ่ม เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอู ชิ ซเว (H.E. U Chit Swe) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่) ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า การเข้าพบของเอกอัครราชทูตเมียนมาดังกล่าว ทำให้บรรยากาศการค้าชายแดนคึกคักและผ่อนคลายทันที และจากท่าทีด้านความสัมพันธ์อันดีของเมียนมา ทำให้ภาคเอกชนของไทยมั่นใจว่าการค้าชายแดนจะไม่มีปัญหา
แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลเมียนมา จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการชำระหนี้ต่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาดูท่าทีของเมียนมาและไทย ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ต่างฝ่ายต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน เสริมความเป็น“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ” ทำให้การค้าชายแดนแดนจ.ระนอง ได้รับความสนใจใช้ขนส่งสินค้าไปยังตอนกลางของเมียนมา เนื่องจากการขนส่งทางนํ้าจะปลอดภัย และขนได้เป็นจำนวนมาก มีรถบรรทุกสินค้าเข้าจ.ระนองเพิ่ม บางช่วงต้องจอดเข้าแถวรอลง ท่าเป็นทางยาว
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,814 วันที่ 1-3 กันยายน พ.ศ.2565