นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย(sacit) เปิดเผยว่าเพื่ออนุรักษ์ รักษาคุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ซึ่งถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ รักษา สืบสานต่อ
ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดสู่ความร่วมสมัยและสมัยนิยม อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
จึงได้มีการดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ใน 3 สถานะ ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
สำหรับในปี 2565 นี้ sacit ได้ดำเนินการค้นหาผู้ที่มีทักษะเชิงช่างด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อนำมาเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวม 25 ราย เรียบร้อยแล้ว โดยให้ความสำคัญต่อหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น มิติด้านการอนุรักษ์ , มิติด้านทักษะฝีมือ, มิติด้านเรื่องราวองค์ความรู้ , มิติด้านสังคม ในสาขางานศิลปหัตถกรรม 9 สาขา ได้แก่ 1. เครื่องไม้ 2. เครื่องจักสาน 3. เครื่องดิน 4. เครื่องทอ (เครื่องผ้า) 5. เครื่องรัก 6. เครื่องโลหะ 7. เครื่องหนัง 8. เครื่องกระดาษ 9. เครื่องหิน ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย
โดยแบ่งเป็นครูศิลป์ ของแผ่นดิน จำนวน 2 ราย , ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 13 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 10 ราย และเป็นที่น่ายินดีที่มีงานศิลปหัตถกรรมไทยที่หาดูยากหรือใกล้สูญหายและน่าสนใจ อาทิ เครื่องทองลงหิน , เครื่องสังคโลก , เครื่องประดับลงยาราชาวดี , งานปักสะดึงกรึงไหม , งานกระจกเกรียบโบราณ และเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ) เป็นต้น