นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงนี้มีอิทธิพลลมมรสุมเกิดฝนตกหนักมาก สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงในหลายพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการด่วนให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็วและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
โดยแจ้งไปยังสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจและติดตามสถานการณ์พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และสัตว์เลี้ยงทันที ทั้งด้านเสบียงอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยานพาหนะ ทีมสัตวแพทย์ แต่งตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัยและสำรวจความเดือดร้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้น ตั้งแต่วันที่ 11 - 13 กันยายน 2565 เขตมีนบุรี เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2 ราย โคเนื้อ 100 ตัว (16.8%) เขตคลองสามวา เกษตรกรได้รับผลกระทบ 2 ราย
โคเนื้อ 100 ตัว (8.6%) เขตดอนเมือง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ราย ไก่ 500 ตัว (53.1%) เป็ด 500 ตัว (50%) เขตบางเขน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ราย กระบือ 3 ตัว (50%) และเขตประเวศ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 23 ราย สุนัข 21 ตัว แมว 21 ตัว ไก่ 650 ตัว (5.8%) เป็ด 20 ตัว (8.8%) โค 65 ตัว (17.5%) กระบือ 7 ตัว (100%) และแพะ 122 ตัว (5.9%)
ล่าสุดวันที่ 13 กันยายน 2565 สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนายสัตวแพทย์วรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ และปศุสัตว์พื้นที่ 1-14 ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตดอนเมือง เขตบางเขน เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว
สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ให้ความช่วยเหลือมอบเสบียงสัตว์พระราชทานฯ โดยได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายงานโดยสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร หญ้าแห้งอัดฟ่อน จำนวน 250 ฟ่อน ทั้งนี้ได้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้รับผลกระทบน้ำท่วมเบื้องต้น จำนวน 65 ฟ่อน และถุงยังชีพสำหรับสัตว์ ประกอบด้วย อาหารสุนัข อาหารแมว อาหารสัตว์ปีก และเวชภัณฑ์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น จำนวน 50 ราย
นายสัตวแพทย์วรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่าขอให้ปศุสัตว์พื้นที่ 1 -14 ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้รายงานผลสรุปสถานการณ์ประจำวันในไลน์กลุ่มสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ พื้นที่ใดมีสถานการณ์น้ำท่วม ให้รายงานตามแบบฟอร์มที่กรมปศุสัตว์กำหนด และพื้นที่ใดที่ต้องการขอสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์เพิ่มเติม นอกเหนือจากโควตาที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว ให้ประสานสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร
สถานการณ์ปัจจุบันน้ำล้นคลอง ยังปริ่มตลิ่ง แต่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการเปิดประตูระบายน้ำ คลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำวันนี้อีกสักวัน ถ้าไม่มีฝน แนวโน้มระดับน้ำจะลดลงเรื่อย ๆโดยภาพรวมระดับน้ำลดลงต่อเนื่องแต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังมีจังหวัดต่างๆ ที่ปศุสัตว์แต่ละจังหวัดก็ได้มีการช่วยเหลือ นายเศกสรรค์ สวนกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ มอบหมายให้ นายวิโรจน์ ฤทธิ์ฤๅชัย ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท ร่วมกับ ปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 5,000 กิโลกรัม (250 ฟ่อน) สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยอุทกภัย ให้กับเกษตรกร จำนวน 29 ราย ในพื้นที่เขตประเวศ เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตดอนเมือง และเขตบางเขน รวมสัตว์เลี้ยง โค กระบือ แพะ และแกะ จำนวน 250 ตัว
ถัดมา “จังหวัดอุทัยธานี” นายเศกสรรค์ สวนกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ มอบหมายให้ นายวิโรจน์ ฤทธิ์ฤๅชัย ผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท ร่วมกับ นายสมพล ไวปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี และปศุสัตว์อำเภอสว่างอารมย์ มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน จำนวน 5,000 กิโลกรัม (250 ฟ่อน) สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยอุทกภัย เกษตรกร จำนวน 13 ราย กระบือ จำนวน 125 ตัว แพะ จำนวน 80 ตัว ณ วัดดอนเพชร ต.บ่อยาง อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี
“ยโสธร” นายดำรงศักดิ์ หงษ์ทะนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร นายสมศักดิ์ ธรรมบุตร ปศุสัตว์อำเภอเมืองยโสธร ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอเมืองยโสธร จากการเกิดภาวะฝนชุกทำให้แม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านกุดกุง หมู่ 14 ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร
ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือจำนวน 16 ราย โค-กระบือ 52 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยสนับสนุนเสบียงสัตว์พระราชทานฯ (หญ้าแห้งอัดฟ่อน)จำนวน 2,000 ก.ก. (100 ฟ่อน) พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรนำสัตว์ไปเลี้ยงบริเวณจุดอพยพสัตว์ที่น้ำท่วมไม่ถึงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า
วันที่ 13 กันยายน 2565 นายดำรงศักดิ์ หงษ์ทะนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ยโสธร พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์อภิชาติ ภะวัง ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร นายสมศักดิ์ ธรรมบุตร ปศุสัตว์อำเภอเมืองยโสธร ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอเมืองยโสธร
จากการเกิดภาวะฝนชุกทำให้แม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตร บ้านกุดกุง หมู่ 14 ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร ซึ่งมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือจำนวน 16 ราย โค-กระบือ 52 ตัว เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยโสธร ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยสนับสนุนเสบียงสัตว์พระราชทานฯ (หญ้าแห้งอัดฟ่อน)จำนวน 2,000 ก.ก. (100 ฟ่อน) พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรนำสัตว์ไปเลี้ยงบริเวณจุดอพยพสัตว์ที่น้ำท่วมไม่ถึงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า
ปิดท้าย นายปริญญา จเรรัชต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบูรณ์ ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบูรณ์ ด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอชนแดน มอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ตำบลลาดแคอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ หญ้าอาหารสัตว์พระราชทานจำนวน 5,000 กิโลกรัม (250 ฟ่อน) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 10 ราย จำนวนสัตว์เลี้ยง 1. แพะ 85 ตัว 2. โค 45 ตัว 3.กระบือ 65 ตัว
อย่างไรก็ดี เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ 1-14 และสำนักงานปศุสัตว์พื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือติดต่อ โทร. 02-004-4407 หรือ 061-4174792